Economics

‘สรรพากร’ ออกมาตรการภาษีจูงใจสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้มแข็ง-ยั่งยืน

“สรรพากร” เผย ครม.อนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมโดยเงินที่นำไปลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถนำเงินดังกล่าวหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายคำนวณกำไรสุทธิได้ เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ตระหนักถึงความสำคัญ ของการส่งเสริม และสนับสนุนกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้มีขีดความสามารถ ในการแข่งขันทางการค้า และขยายตัวมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคง และยั่งยืน ให้กับชุมชนและสังคม จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจ เพื่อสังคมประเภทที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไร ตั้งแต่วันที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักของกิจการ

สรรพากร
2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ของผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม

2.1 กรณีบุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วน เพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษี ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิต้องถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน จนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เลิกกิจการเว้นแต่กรณีที่กำหนด

2.2 กรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

  • สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุนในหุ้น หรือการเป็นหุ้นส่วน เพื่อจัดตั้ง หรือเพิ่มทุนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจ เพื่อสังคมตามจริง ทั้งนี้ ผู้ใช้สิทธิต้องถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนจนกว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น เลิกกิจการเว้นแต่กรณีที่กำหนด
  • สามารถหักรายจ่ายเงิน หรือทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทน ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่เมื่อรวม กับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้ว ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ

3. สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้บริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

3.1 กรณีบุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนการบริจาค ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม2566 เท่าที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมิน หลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน

3.2 กรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เท่าที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ

4. ยกเว้นภาษี สำหรับการโอนทรัพย์สินการขายสินค้า หรือการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินตามข้อ 2 หรือการบริจาคตามข้อ 3 โดยต้องไม่นำต้นทุนมาหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

5. บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ 1 ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสังคม เป็นเป้าหมายหลักของกิจการ จดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ใช้ทรัพย์สินในกิจการหรือเพื่อกิจการเท่านั้น ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการเว้นแต่ตามที่กำหนด ไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนและไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์ เว้นแต่กรณีที่กำหนด รวมทั้งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่กำหนด

6. ให้วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ประสงค์จะใช้สิทธิจดแจ้งการเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมก่อนพระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้จดแจ้งภายในวันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอธิบดีกรมสรรพากรจะขยายกำหนดเวลาออกไปก็ได้

7. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามพระราชกฤษฎีกาฯ ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกานี้ รวมทั้งผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมก็ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลที่ให้การสนับสนุนนั้น เป็นการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้กิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นกลไกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมและกลุ่มกิจการเพื่อสังคม

รวมทั้งประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo