Economics

‘ซีพี’ ผนึก ‘ไอทีดี-ช.การช่าง-จีน’ ประมูลไฮสปีดชูคนพิการขึ้นฟรี

“ซีพี-ไอทีดี-ช.การช่าง-จีน” ผนึกกำลังประมูลไฮสปีดสามสนามบิน พร้อมยื่นข้อเสนอซองพิเศษเปิดให้คนพิการขึ้นฟรีตลอดชีวิต

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภันฑ์ (CP) เปิดเผยหลังเดินทางมายื่นประมูล โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท ในวันนี้ (12 พ.ย.) ว่า กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรได้ร่วมกันยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยผู้ถือหุ้นหลักที่ยื่นประมูลประกอบด้วย

S 70909965

1. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 70%

2. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถือหุ้นในสัดส่วน 5%

3. China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือหุ้นในสัดส่วน 10%

4. เครือ ช. การช่าง ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 15%

สำหรับ CRCC เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณทั้งหมดในประเทศจีน โดยขณะนี้ทางกลุ่มยังไม่ได้แบ่งงานก่อสร้างระหว่าง CRCC, ITD และ CK เพราะตอนนี้มองภาพรวมเรื่องผู้ถือหุ้นมากกว่า

ss6

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทนที่ไม่สูง แต่ถ้ามองในระยะยาวจริงๆ โครงสร้างพื้นฐานก็มีความมั่นคงและให้ผลตอบแทนต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นโครงการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ที่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ถ้าเกิดอู่ตะภา อีอีซี เกิดการเชื่อมโยงของรถไฟสายที่ไปทางอีสาน หนองคาย ก็คิดว่าอีอีซีจะเป็นตัวผลักดันให้โครงการรถไฟมั่นคงไปด้วย เราก็มีความมั่นใจต่อนโยบายภาครัฐและต้องการแสดงการสนับสนุนในฐานะบริษัทไทย” นายศุภชัย กล่าว

นอกจากนี้ ทางกลุ่มมีพันธมิตรหลายรายและหลายประเทศที่ ‘แสดงความประสงค์จะร่วมลงทุน’ ในด้านต่างๆ ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) แสดงความประสงค์จะเป็นแหล่งเงินกู้, Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (JOIN) ซึ่งเป็นกองทุนของประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงความประสงค์จะร่วมลงทุนด้วย

ss1

CITIC Group Corporation และ China Resources (Holdings) Company Limited หรือ CRC จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็แสดงความประสงค์จะร่วมลงทุน ส่วน Ferrovie dello Stato Italiane จากประเทศอิตาลี จะช่วยเรื่องการเดินรถและบำรุงรักษา ด้านขบวนรถมีหลายแบรนด์ที่แสดงความประสงค์เป็นพันธมิตร ได้แก่ Siemen จากประเทศเยอรมัน, Hyundai จากประเทศเกาหลีใต้, และ CRRC-Sifang จากสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ก็สามารถขออนุญาตการรถไฟฯ เปลี่ยนเป็นแบรนด์อื่นได้ นอกจากนี้มีพันธมิตรในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ขณะเดียวกันซีพีเปิดทางให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือเอกชนไทยรายอื่นมาร่วมลงทุนในภายหลัง โดยทางกลุ่มยินดีและต้องการชักชวนให้มาร่วมลงทุนอย่างมาก ซึ่งพันธมิตรที่เหลือสามารถแสดงความจำนงจะร่วมถือหุ้นภายหลัง แต่ต้องเสนอให้การรถไฟฯ อนุมัติก่อน ที่สำคัญคือผู้ถือรายหุ้นใหม่ต้องมาเสริมและไม่ทำให้ความแข็งแกร่งของโครงการลดลง สำหรับซีพี ในฐานะแกนนำกลุ่ม ต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 26%

รถไฟความเร็วสูง

สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น ซีพียังไม่ได้ซื้อพื้นที่เพิ่มเติม เพราะต้องการเน้นการพัฒนารถไฟเป็นหลัก โดยพื้นที่ในภาคตะวันออกก็เป็นพื้นที่การเกษตรแปลงเดิมของซีพี ด้านการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซีพีก็จะเน้นการพัฒนาพื้นที่มักกะสันให้เต็มศักยภาพและเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมนั้น ซีพีได้ยื่นข้อเสนอใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกซีพีต้องการทำงานร่วมกับชุมชนและสร้างความยั่งยืน เพราะรถไฟถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่นำความเจริญไปสู่ท้องถิ่น และประเด็นที่ 2 ซีพีตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ โดยถ้าหากซีพีได้ลงทุนโครงการนี้ ก็จะให้ผู้พิการได้ใช้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสาร

Avatar photo