Economics

ตั้งเป้าเสนอชื่อผู้ชนะไฮสปีดเข้าครม.กลางเดือน ม.ค. 62

“การรถไฟฯ” เผย “ซีพี – บีทีเอส” ยื่นประมูลไฮสปีดเทรนตามคาด เชื่อเกิดการแข่งขัน ระบุแม้มีแค่ 2 รายแต่เป็นรายใหญ่ทั้งคู่ พร้อมตั้งเป้าชงรายชื่อผู้ชนะเข้า ครม. กลางเดือน ม.ค. 62

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้เปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน (TOR) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสารจำนวน 31 ราย และมีกำหนดรับซองข้อเสนอราคาในวันนี้ (12 พ.ย.) ซึ่งมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย

1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด

วรวุฒิ มาลา11

“มีผู้ประมูล 2 กลุ่มตามคาด ซึ่งก็เชื่อว่า 2 กลุ่มเพียงพอให้เกิดการแข่งขัน เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ถ้าหากมีคนตกคุณสมบัติและเหลือเอกชนเพียงรายเดียว ทางคณะกรรมการคัดเลือกที่มีตนเป็นประธานก็ต้องพิจารณาว่าสามารถประมูลต่อได้หรือไม่ แต่เบื้องต้นทีโออาร์เปิดช่องให้ทำได้” นายวรวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ เอกชนต้องยื่นเอกสารประกอบการประมูล ดังนี้ หลักประกันซองพร้อมกับซองข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท, หนังสือมอบอำนาจ (เอกสารความเป็นตัวตนของผู้ยื่น), รายการเอกสารที่บรรจุในซอง (List รายการเอกสาร) ที่ไม่ปิดผนึก และใบเสร็จรับเงินซื้อซองของผู้ยื่นข้อเสนอ อีกทั้งต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่การรถไฟฯ เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท และผู้ที่ยื่นเสนอผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้กับการรถไฟฯ ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา

m4 1

นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า วันนี้การรถไฟฯ ได้พิจารณาเอกสารเปิดผนึกของเอกสารทั้ง 2 รายแล้ว ซึ่งพบว่าเรียบร้อยและไม่มีปัญหาใดๆ ส่วนในวันพรุ่งนี้ (13 พ.ย.) การรถไฟฯ จะเปิดข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ และใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ จากนั้นเปิดข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 สัปดาห์ และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคาใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

ต่อจากนั้นการรถไฟฯ จะเจรจากับผู้ผ่านการคัดเลือกใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์และส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาสัญญาอีก 2 สัปดาห์ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาและเสนอรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบประมาณกลางเดือนมกราคม 2562

อีอีซี รถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่น

“ผู้ชนะการประมูลคือคนที่ขอรับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐต่ำที่สุด โดยการรถไฟฯ ตั้งเป้าจะเสนอรายชื่อให้ ครม. เห็นชอบกลางเดือนมกราคม 2562 และลงนามสัญญาได้ไม่เกินวันที่ 31 มกราคม 2562 ส่วนจะเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ต้องมาดูแผนงานอีกครั้ง แต่สำหรับการรถไฟฯ ตอนนี้กำลังรางวัดที่ดินและพร้อมจะส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งพื้นที่มักกะสันและศรีราชา” นายวรวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ เอกชนที่ชนะการประมูล ต้องนำแบบไปเสนอขอความเห็นชอบรายงานวิเคระห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติม ในกรณีที่แบบของเอกชนแตกต่างกับแบบเบื้องต้นที่การรถไฟฯ วางไว้

สำหรับข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนออื่นๆ นั้น การรถไฟฯ สามารถเจรจากับผู้ชนะการประมูลได้หลังจากลงนามสัญญาแล้ว ส่วนจะอนุมัติให้ดำเนินการได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา โดยเบื้องต้นจะยึดโมเดลการเจรจาตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู

ส่วนผู้ชนะการประมูลจะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและต้องเสนอให้การรถไฟฯ พิจารณา เช่น ถ้ามีผู้ถือหุ้นใหม่ 1 – 2% ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงมากๆ การรถไฟฯ ในฐานะเจ้าของโครงการก็คงต้องพิจารณานานและไม่ใช่เรื่องง่าย

 

Avatar photo