เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ตระกูล “เจียรวนนท์” คว้าประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อหืดขึ้นคอแผนลงทุน ผงะค่าโดยสารดอนเมือง-อูตะเภา ร่วม 500 บาท ประเมินอัตราค่าโดยสารไม่คุ้มทุน แต่ผลประโยชน์สูงสุดอยู่ที่การพัฒนาที่ดิน
ประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย จะได้มีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-ระยอง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้
หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-ระยอง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 สร้างความคึกคักให้กับผู้คน ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยที่เปิดให้เอกชนผู้สนใจเข้ายื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูง
คลื่นลูกใหม่ 2 ตระกูลดัง
เป็นไปตามคาดหมายที่จะมี “2 กลุ่มใหญ่” อย่าง กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด นำโดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และพันธมิตรร่วมกันยื่นประมูลโครงการนี้โดยผู้ถือหุ้นหลักประกอบด้วย
- บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 70%
- บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถือหุ้นในสัดส่วน 5%
- China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือหุ้นในสัดส่วน 10%
- เครือ ช. การช่าง ที่มีทั้งบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือหุ้นรวมกัน 15%
และ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ นำโดย สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) , ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ STEC และผู้บริหารจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รวมกลุ่มเข้ายื่นซองประมูล
แม้ก่อนหน้านี้จะมีผู้สนใจซื้อเอกสารการประกวดราคาถึง 31 ราย นั่นเป็นเพียงแค่ความสนใจที่อยากรู้ทีโออาร์การประมูลเพื่อจะเข้าไปมีส่วนแบ่งงานประมูลด้านอื่นๆมากกว่า
ครั้งแรกกลุ่ม CP คว้าชัยไฮสปีดเทรน
การประมูลเดินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อกิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คว้างานนี้ไปแล้ว จากการประชุมพิจารณาราคาของคณะกรรมการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงินลงทุน 224,544.36 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงินลงทุนรวม 224,544.36 ล้านบาท ออกมาระบุชัดเจนว่า ผู้เข้าประมูลทั้ง 2 ราย
- กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) เป็นแกนนำ
- กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นแกนนำ
ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคาแล้ว
สำหรับข้อเสนอซองที่ 3 กลุ่ม CP เสนอขอรับวงเงินอุดหนุนในปัจจุบัน (Net Present Value) จำนวน 117,227 ล้านบาท กลุ่ม BTS เสนอขอรับมูลค่าการอุดหนุนในปัจจุบัน 169,934 ล้านบาท จากเพดานการอุดหนุนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล 1.19 แสนล้านบาท ข้อเสนอด้านราคาของเอกชนทั้ง 2 ราย มีส่วนต่างถึง 52,707 ล้านบาท
มาถึงตรงนี้แล้วคงหนีไม่พ้นกลุ่มCP ที่คว้างานนี้ไปโดยปริยาย ตัวเลขเงินอุดหนุนจากภาครัฐก็ถือว่าเหนือคู่แข่งพอสมควร แม้ตัวเลขที่จะให้รัฐอุดหนุนต่ำกว่าเพดานราคาที่กำหนดไว้ไม่กี่“พันล้านบาท” แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นวงเงินที่ต่ำกว่าที่รัฐกำหนดไว้นั่นเอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง น่าจะอยู่ที่การพัฒนาพื้นที่สนับสนุนบริการรถไฟพื้นที่มักกะสัน เนื้อที่ 150 ไร่ และพื้นที่ศรีราชา ตั้งอยู่บริเวณสถานีศรีราชา เป็นพื้นที่ของรฟท.เนื้อที่อีก 25 ไร่ มากกว่า ซึ่งจะไม่รวมพื้นที่ผลพลอยได้ของเอกชนเองในแต่ละจุด การพัฒนาพื้นที่ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละกลุ่ม
15 สถานี ระยะทาง 220 กิโมเมตร
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ใกล้ตัวประชาชนนั่นคืออัตราค่าโดยสารของโครงการนี้ ซึ่งตามทีโออาาร์ได้กำหนดสถานีของรถไฟไว้ 15 สถานี เป็นสถานีภายในเมือง 10 สถานีประกอบด้วย ดอนเมือง บางซื่อ พญาไท ราชปรารภ มักกะสัน รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง ลาดกระบัง และสถานีสุวรรณภูมิ
ส่วนสถานีรถไฟระหว่างเมืองอีก 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ระยะทางรวม 220 กิโลเมตร โดยความเร็วรถไฟในเมืองตั้งแต่สถานีดอนเมืองถึงสุวรรณถูมิความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วระหว่างเมืองตั้งแต่สถานีสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา สูงสุดอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ไหวไหม!!ดอนเมือง-อู่ตะเภา 490 บาท
สิ่งที่น่าสนใจที่จะทำให้มีการใช้บริการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ มีมากน้อยแต่ไหน อยู่ที่ราคาค่าบริการมากกว่า ว่าราคาที่กำหนดไว้จะเหมาะสม ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้หรือไม่
จากเงื่อนไขทีโออาร์การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง ได้มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารตั้งแต่สถานีดอนเมืองไปยังสถานีอู่ตะเภาอยู่ที่ 490 บาท
- บางซื่อ-อู่ตะเภา 465 บาท
- มักกะสัน-อู่ตะเภา 446 บาท
- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 397 บาท
- ฉะเชิงเทรา-อู่ตะเภา 326 บาท
- ชลบุรี-อู่ตะเภา 249 บาท
- ศรีราชา-อู่ตะเภา 205 บาท
- พัทยา-อู่ตะเภา 157 บาท
รายละเอียดระยะทางที่เหลือดังตารางที่ปรากฎ
พัฒนาที่ดินคำตอบจุดคุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโดยสารที่ปรากฎเป็นอัตราตามเงื่อนไขทีโออาร์ แต่เมื่อถึงเวลาเปิดให้บริการจริง เชื่อว่าผู้ที่ได้รับสัมปทานโครงการนี้ไป อาจจะต้องใช้โปรโมชั่นเข้าช่วย ในเรื่องของราคาค่าบริการ หรือจัดเคมเปญเพื่อผู้โดยสารในระยะแรก เพราะอัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ อาจจะมีหลายมุมมอง อาจจะมีทั้งผู้ที่เห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม แต่บางส่วนอาจจะมองว่าแพงเกินไปสำหรับภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้
ในความเป็นจริงแล้วมีการประเมินกันว่า การให้บริการรถไฟความเร็วสูงกับราคาที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ อาจจะไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความเร็จ แต่ความ สำเร็จหรือจุดคุ้มค่า อยู่ที่แผนการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ มากกว่า