Economics

เกษตรฯ สั่งซื้อวัคซีน 6 หมื่นโดส ระดมฉีดโค-กระบือ แก้ ‘ลัมปี สกิน’ ระบาดหนัก

กระทรวงเกษตรฯ สั่งซื้อ วัคซีน 6 หมื่นโดส ปูพรมฉีดโคกระบือแก้ “ลัมปี สกิน” ระบาดหนัก คาดเริ่มได้เดือน มิ.ย.

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโคกระบือ จึงได้มีข้อสั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมต้นตอของการระบาดของโรคลัมปี สกิน

โดยให้เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดนทุกแห่ง หากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องกลัวอิทธิพล หากปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบเคลื่อนย้าย และเกิดการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน เพิ่มขึ้น จะดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาด

วัคซีน ลัมปี สกิน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรค ลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกร พร้อมทั้งได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการ คือ

1. ควบคุมการเคลื่อนย้ายโคกระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดน เช่น ด่านชายแดนเมียนมา พร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด และเข้มข้น

2. เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว

3. ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง ด้วยการประสานด่านกักกันสัตว์ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน

4. รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี

5. การใช้วัคซีนควบคุมโรค

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อ วัคซีน ลัมปี สกิน จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส เนื่องจากประเทศไทยไม่มีวัคซีนดังกล่าว เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานเพื่อส่งมอบวัคซีน คาดว่าจะสามารถส่งมาถึงประเทศไทยได้ภายใน 5 วันจากนี้

หลังจากวัคซีนเข้ามาแล้ว จะต้องได้รับหนังสือรับรองรุ่นการผลิตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนนำมาใช้ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย คาดว่าน่าจะช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2564 อีกทั้งกรมปศุสัตว์ กำลังดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกประมาณ 300,000 โดส จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ในต่างประเทศ เพื่อเสริมระบบในการควบคุม ป้องกันโรค ลัมปีสกิน ในประเทศไทยโดยเร็วต่อไป

shutterstock 1973614829

ที่มา “ลัมปี สกิน”

โรคลัมปี สกิน มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virus เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน อัตราการป่วยมากกว่า 5% โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ก่อโรคตามอวัยวะที่มีเซลล์เยื่อบุ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย โดยในโคนมอาจพบน้ำนมลดลง 25-65 %

โรคนี้มีแมลงดูดเลือดเช่น เห็บ แมลงวันดูดเลือด และยุงเป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง ผ่านทางน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ที่เป็นโรค หรือผ่านทางรกได้

สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการกำจัดแมลงพาหะนำโรค ด้วยการใช้สารเคมีกำจัดแมลงแบบฉีด แบบราดหลัง หรือแบบฉีดพ่นสำหรับสัตว์ทุกตัวในฝูง ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้โปร่งโล่ง ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงพาหะ รวมถึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง กำจัดมูลสัตว์ออกจากฟาร์มเป็นประจำหรือใช้ผ้าใบคลุมเพื่อป้องกันแมลงมาวางไข่ ตลอดจนกางมุ้งให้แก่สัตว์เพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด

โดยเมื่อเดือนเมษายน 2564 กรมปศุสัตว์ แจ้งว่า มีรายงานจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) พบการระบาดของโรค ลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาและมีการแพร่กระจายของโรคมาสู่ภูมิภาคเอเชียได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย ฮ่องกง จีน ไต้หวัน ภูฏาน เนปาล เวียดนาม และเมียนมา

ต่อมาเมื่อปลายเดือนมีนาคม กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกินในโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อยที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1 – 2 ตัว จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาผลทางห้องปฏิบัติการตรวจพบเชื้อไวรัสโรคลัมปี สกิน

จากการสอบสวนโรคเกิดจากการนำเข้าโคเนื้อมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ โดยเป็นโคเนื้อที่อาจมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จึงสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดเร่งควบคุมโรคเพื่อลดความสูญเสียให้กับเกษตรกรและเฝ้าระวังโรคในจังหวัดข้างเคียง ด้วยการชะลอการนำเข้าโคกระบือมีชีวิตและซากโคซากกระบือจากเมียนมาแล้ว ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรสังเกตอาการของโคกระบือ แนะนำวิธีการป้องกันและเฝ้าระวังโรคให้เกษตรกร สหกรณ์โคเนื้อ โคนม ตลาดนัดค้าสัตว์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo