Economics

กู้ 7 แสนล้าน ดันหนี้สาธารณะชนเพดานเร็วขึ้น แนะขยายเพดานด่วน!!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะขยายเพดานหนี้สาธารณะ หลัง “กู้ 7 แสนล้าน” ดันหนี้ชนเพดานเร็วขึ้น ชี้ผลจากการกู้เงินจะมีผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพร่ระบาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ราว 58.7 – 59.6% ของ GDP ภายใต้สมมติฐานที่รวมกรอบ พ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้านบาทแล้ว โดยคาดว่า จะมีการกู้จริงประมาณครึ่งหนึ่ง ของวงเงินทั้งหมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564

ทั้งนี้ แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณนี้จะยังไม่ถึง 60% ของ GDP แต่การกู้เงินเพิ่มเติม เป็นการเร่งระดับหนี้สาธารณะ ให้เข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ของ GDP เร็วกว่าที่เคยประเมิน ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐ จำเป็นต้องเตรียมขยายเพดานหนี้สาธารณะ ในระยะเวลาอันใกล้

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นแก่รัฐบาล ในการดูแลเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยการใช้วงเงินกู้จริง คงจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาด และภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงข้างหน้า ในทางตรงข้าม หากไม่มี พ.ร.ก.กู้เงินฯ นี้ แต่การแพร่ระบาด ยังไม่ทุเลาลง รัฐบาลก็จะขาดเครื่องมือทางการคลัง ในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ถูกกระทบนั้น

กู้ 7 แสนล้าน

ทั้งนี้ การกู้เงินเพิ่ม ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของไทย เข้าใกล้เพดานหนี้ที่ 60% ของ GDP เร็วขึ้น และทางภาครัฐ จำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ ในระยะเวลาอันใกล้ ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 54.3% ของ GDP

อย่างไรก็ตาม การขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้น ยังอยู่ในวิสัยทัศน์ที่สามารถทำได้ ขณะที่ ระดับเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP เป็นระดับตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่นิยมใช้ในหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สาธารณะ ที่เหมาะสมของแต่ละประเทศนั้น ไม่มีระดับที่ตายตัว และขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

ประเด็นติดตาม อยู่ที่ปฏิกิริยาตอบสนองของนักลงทุน ต่อการกู้เพิ่มของภาครัฐ ซึ่งการสื่อสารจากทางภาครัฐ และแผนการรักษาวินัยทางการคลังต่อจากนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยหากนักลงทุนมีมุมมองว่า การกู้เพิ่มในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ใช่ประเด็น เกี่ยวกับวินัยทางการคลัง การ กู้ 7 แสนล้าน อาจจะไม่ได้เป็นประเด็นต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

แต่หากนักลงทุน มีคำถาม เกี่ยวกับประเด็นการรักษาวินัยทางการคลัง ที่อาจจะส่งผลกระทบ ต่อความเสี่ยงและความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว การกู้เงินเพิ่มเติม อาจส่งผลกระทบ ต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการขยับขึ้น ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล นอกเหนือไปจากกลไกตลาดด้านอุปทานที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยภายนอกประเทศเช่นเดียวกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐค่อนข้างมาก

ดังนั้น จากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมนั้นเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวดี

สำหรับผลกระทบ ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้โดยปกติแล้ว การกู้ และใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาล น่าจะมีส่วนกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินอยู่ ทำให้รายได้ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคแตกต่างไปจากในช่วงปกติ

สุดท้ายแล้ว ผลกระตุ้นต่อเศรษฐกิจของการกู้ และใช้จ่ายเพิ่มเติมของรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด ทำให้เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงจะสามารถสรุปผลของ พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้าน ต่อตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการ อัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2564 ไว้ที่ 1.8% ขณะที่จะติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และเครื่องชี้เศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประมาณการในช่วงถัด ๆ ไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo