Economics

‘สนธิรัตน์’ ยกโมเดลเศรษฐกิจ ‘ไบเดน’ สอนรัฐบาล จี้จ่ายเงินช่วยเหลือ ‘ร้านอาหาร’

“สนธิรัตน์” สมาชิกแก๊ง 4 กุมาร ยกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “โจ ไบเดน” สอนมวยรัฐบาล เสนอจ่าย เงินช่วยเหลือ “ร้านอาหาร” ช่วงโควิด

วานนี้ (9 พ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิกกลุ่ม 4 กุมารที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแกนนำ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภาวะโควิด – 19 แพร่ระบาด

โดยนายสนธิรัตน์ยกตัวอย่างนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีการตั้งกองทุนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือร้านอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมเข้าไว้ด้วยกันและเป็นแหล่งงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการสามารถนำเงินช่วยเหลือดังกล่าวไปใช้จ่ายด้านใดก็ได้จนกว่าร้านจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งนายสนธิรัตน์เห็นว่ามาตรการนี้เหมาะสมจะนำมาปรับใช้ในประเทศไทย

เงินช่วยเหลือ ร้านอาหาร ไบเดน

ยกโมเดล “ไบเดน” จ่าย เงินช่วยเหลือ “ร้านอาหาร”

“ในภาวะวิกฤตโควิดเช่นนี้ นอกจากการติดเชื้อและการป้องกัน ปากท้องของพี่น้องที่ถูกผลกระทบน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

วันก่อนผมได้มีโอกาสอ่านแผนฟื้นฟูประเทศหลังโควิด19 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ครับ ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจในหลายประเด็น แต่ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคงเป็นแผนช่วยเหลือร้านอาหารของเขาครับ

รู้ไหมครับในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมาตำแหน่งงานในร้านอาหารของอเมริกาหายไปถึง 2.3 ล้านตำแหน่งเลยครับ ซึ่งผมคิดว่าสถานการณ์แบบนี้คงไม่แตกต่างกันนักในประเทศต่าง ๆ รวมถึงบ้านเรา

ทางอเมริกาเขาเลยมีแผนสำหรับช่วยร้านอาหารโดยเฉพาะเลยครับ เพราะเขามองว่าร้านอาหารเหล่านี้คือสายใยสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมอเมริกาครับ และเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประเทศ

ตอนนี้เขาเลยมีการตั้งกองทุนฟื้นชีวิตธุรกิจเพื่อให้ความช่วยเหลือเหล่าร้านอาหารซึ่งไม่ใช่เฉพาะร้านใหญ่ ๆ ครับ แต่รวมพวก บาร์ เบเกอรี่ แผงขายอาหาร และรถขายอาหารด้วยครับ

ซึ่งเงินช่วยเหลือนี้ผู้ประกอบการจะเอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นเอาไปจ่ายค่าแรง ค่าอุปกรณ์ ค่าเช่า ค่าวัตถุดิบ หรือค่าใช้จ่ายจำเป็นต่าง ๆ เพื่อให้ร้านกลับมาเปิดได้เป็นปกติอีกครั้ง

โดยการขอรับความช่วยเหลือผ่านกองทุนนี้ก็ทำได้ง่าย ๆ ครับ เพียงส่งเอกสารสมัครเข้ามาผ่านทางเว็บไซด์ของทางรัฐบาล และจะมีหน่วยงานประเมินและประสานให้ความช่วยเหลือต่อไป

ส่วนตัวผมเห็นว่านโยบายนี้ค่อนข้างน่าสนใจและเหมาะมากเลยครับในการนำมาปรับใช้กับบ้านเราที่ ร้านอาหาร และภาคบริการเป็นหัวใจสำคัญมาก ๆ มีอยู่ทั่วประเทศจะเป็นการช่วยฟื้นธุรกิจ สามารถดูแลพนักงานและเกิดรายได้กับผู้ค้าขายกับร้านอาหารเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจของประเทศเราหลังวิกฤตโควิด19 จำเป็นต้องฟื้นชีวิตธุรกิจที่หยุดนิ่ง…ให้เดินต่อโดยเร็วครับ”

ธุรกิจร้านอาหาร

ล่าสุด “คลัง” เมินออกมาตรการใหม่ บอกของเดิมมีอยู่แล้ว

จากกรณีที่มีข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยควรนำเม็ดเงินเหล่านี้มาเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด – 19 และข้อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่อ ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ทั้ง 3 ระลอกนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 กระทรวงการคลังออกมาชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้พิจารณาใช้มาตรการเยียวยาที่ดำเนินการอยู่แล้วและยังไม่สิ้นสุดโครงการ ได้แก่ โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน โดยเพิ่มวงเงินให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนรวม 41 ล้านคน

การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวยังจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจฐานรากจากร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย รวมถึงผู้ประกอบการ ร้านอาหาร จึงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อยในท้องที่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการคนละครึ่งระยะ 3 เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ในส่วนของมาตรการด้านการเงิน ครม. ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด – 19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

2.มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจของลูกหนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง

shutterstock 1771450655

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้

1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม

2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 คลี่คลายลง

มาตรการด้านภาษี รัฐบาลได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo