Economics

มัดรวมมาตรการเยียวยาสู้โควิดจากรัฐบาล รับเงินวันไหนบ้าง เช็คที่นี่เลย!!

มัดรวม มาตรการเยียวยา สู้โควิดจากรัฐบาล หลังที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ เช็ครายละเอียดที่นี่เลย!!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเมษายน 2564 ดังนี้

มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19

ครม.อนุมัติงบประมาณวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้แก่ธนาคารออมสิน 1 หมื่นล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับประชาชน วงเงินคนละ 1 หมื่นบาท เป็นเวลา 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน (ดอกเบี้ย 35 บาท/เดือน) โดยใน 6 เดือนแรก ยังไม่ต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย มีผลตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงาน/ลูกจ้าง หน่วยงานเอกชนที่มีเงินเดือนประจำ เป็นต้น, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น, และเกษตรกรรายย่อยหรือลูกจ้างภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน

โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) 100% สำหรับ NPLs ที่ไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10,000 ล้านบาท

มาตรการเยียวยา

มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)

กระทรวงการคลังให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนสิ้นปีนี้ (31 ธ.ค. 64) ตามความสมัครใจ โดยพักชำระเงินต้นเพื่อลดภาระชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้ หรือเพื่อนำเงินงวดที่ต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือเพื่อประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยไม่เพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินควร ในการนำเงินมาชำระหลังพักหนี้แล้ว จากอัตราดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาสัญญาเงินกู้ ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยกรณีที่ SFIs ได้พิจารณาพักชำระไว้ด้วย

นอกจากนี้ ให้ SFIs พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อย เพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาแนวทางในการช่วยเหลือ SFIs ตามความจำเป็นและเหมาะสมในกรณีที่การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง หรือฐานะทางการเงินของ SFIs

ทั้งนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) หมายถึง สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐในการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจ และสนับสนุนการลงทุนต่าง ๆ โดยอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังซึ่งได้มอบหมายให้ ธปท. ทำหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงานและความเสี่ยง และรายงานผลการตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินทั้งด้านเงินฝากและให้สินเชื่อ ซึ่งปัจจุบัน มี 4 แห่ง คือ

  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

2. สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำธุรกิจตามขอบเขตที่กำหนด เช่น ให้สินเชื่อหรือรับประกันสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่รับเงินฝากจากประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่งคือ

  • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)
  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
  • บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน

  • โครงการ เราชนะ แก่ประชาชนจำนวน 32.9 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลืออีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ใช้จ่ายสิ้นสุดถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ในกรอบวงเงิน 67,000 ล้านบาท
  • โครงการ ม 33 เรารักกัน แก่ประชาชนจำนวน 9.27 ล้านคน โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ใช้จ่ายสิ้นสุดถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ในกรอบวงเงิน 18,500 ล้านบาท

มาตรการเยียวยา

มาตรการเยียวยา ในระยะต่อไป (เมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 คลี่คลายลง) กรอบวงเงินเบื้องต้น 140,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ดังนี้

1. มาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 แก่ประชาชนจำนวน 13.65 ล้านคน โดยให้งบค่าครองชีพเพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มกรกฎาคม – ธันวาคม 2564
  • โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ แก่ประชาชนจำนวน 2.5 ล้านคน โดยให้งบค่าครองชีพเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มกรกฎาคม – ธันวาคม 2564

2. มาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง ได้แก่

  • โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก วงเงินไม่เกิน 3,000 บาท ใช้จ่ายวันละไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน เริ่มเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 31 ล้านคน
  • โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐสนับสนุน e – Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยเมื่อประชาชนใช้จ่ายดังกล่าวจะได้รับสนับสนุน e – Voucher จากภาครัฐในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 และสามารถนำ e – Voucher ไปใช้จ่ายได้ในเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 4 ล้านคน

ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาดำเนินการเลื่อนกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย ออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคดควิด 19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 จะคลี่คลายลง ตามขั้นตอนของระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ครม.เห็นชอบ มาตรการเยียวยา บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยให้ ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาตามมาตรการเดิมที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564 ดังนี้

ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้

  • ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
  • ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้

– กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้ง ค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
– กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้

  • สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564
  • สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 50
  • สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก

ทั้งนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564

ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2564

ทั้งนี้ เห็นควรให้หน่วยงานรับผิดชอบ (การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค) ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ตามขั้นตอน พระราชกำหนดฯ ต่อไป

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

คณะกรรมการ กยศ. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ดังนี้

– ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยมีรายละเอียดของมาตรการ ดังนี้

  • ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับการชำระหนี้ปิดบัญชี
  • ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ
  • ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน กยศ. ซึ่งไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
  • ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

– ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564

– งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมและ/หรือ ผู้ค้ำประกันที่ กยศ. ได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดย กยศ. จะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมและ/หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี) เป็นต้น

– ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับ ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน กยศ. และไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

– ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืน กยศ. สำหรับผู้กู้ยืมที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19

มาตรการเยียวยา
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด-19 เห็นชอบกำหนดเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ใช้สิทธิ์ เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน อีกคนละ 2,000 บาท โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564

สำหรับมาตรการเราชนะ จะโอนเงินให้ผู้ได้สิทธิ์ สำหรับกลุ่มที่ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรประชาชน 

  • รอบแรก 1,000 บาท ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564
  • รอบสองอีก 1,000 บาท ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564

ส่วนกลุ่มที่ใช้สิทธิ์ผ่านแอพลิเคชัน “เป๋าตัง” 

  • จะได้รับเงินรอบแรกวันที่ 20 พฤษภาคม 2564
  • รอบที่ 2 วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

ส่วนมาตรการ ม.33 เรารักกัน 

  • จะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
  • งวดที่ 2 วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

โดยมาตรการครอบคลุมในส่วนเราชนะ 33.5 ล้านคน และมาตรการ ม.33 เรารักกัน 9.27 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ระบบจะโอนเงินเข้าอัตโนมัติ โดยใช้จ่ายได้ถึง 30 มิถุนายน 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo