Economics

ลูกจ้างต้องรู้!! ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุโควิด มีสิทธิได้ค่าชดเชย

“กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” แจงข้อสงสัย กรณีนายจ้างเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างติดเชื้อ “โควิด-19” มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของ ลูกจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวชี้แจงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ขยายวงกว้างเข้าสู่สถานประกอบกิจการ เป็นความห่วงใยที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้ความคุ้มครองดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือมีความเสี่ยงที่ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้รับความช่วยเหลือ รักษา เยียวยา

ลูกจ้าง
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)

โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการให้ทราบว่า กรณีที่สถานประกอบกิจการ ออกประกาศห้ามลูกจ้างเดินทางข้ามจังหวัด หรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจเกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด แต่ภายหลังทราบว่า ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว จนเป็นเหตุให้นายจ้างสงสัยได้ว่า ลูกจ้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงมีคำสั่งไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานและให้กักตัว ณ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการ

ทั้งนี้ นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง เพราะคำสั่งให้ลูกจ้างกักตัว เป็นคำสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง จะถือว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง จะถือเป็นการขาดงาน หรือละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้ใช้สิทธิการลาป่วย หรือการหยุดพักผ่อนประจำปี และหากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุลูกจ้างติดเชื้อโรคดังกล่าว หรือสงสัยว่าลูกจ้างติดเชื้อ มิได้ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง เพราะการเจ็บป่วยเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ มิใช่การกระทำผิดวินัยของลูกจ้าง และเป็นการติดเชื้อจากโรคระบาดที่แพร่กระจายในวงกว้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ในวงกว้าง นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องให้ความร่วมมือกัน ในการป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกประกาศ เรื่องแนวทางในการเฝ้าระวังการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด นายจ้างและลูกจ้างควรร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดต่อไป

ลูกจ้าง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานบันเทิงถูกสั่งปิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนั้น รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลประชาชนที่ทำงานกลางคืนภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากคนทำงานภาคกลางคืน เช่น ผับ บาร์ สถานบันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบริการ เป็นต้น ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ ในกรณีเหตุสุดวิสัยโควิด -19 นี้ กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

กฎกระทรวงดังกล่าวให้ความคุ้มครองกรณีผู้ประกันตนที่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องกักตัวเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจกรรมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน รวมกันไม่เกิน 90 วัน ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป และสำนักงาน ประกันสังคม ได้เปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.sso.go.th

ขั้นตอนยื่น ขอรับเงินทดแทน “ประกันสังคม”

ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องการขอรับเงิน ฃเยียวยาโควิด – 19 จาก ประกันสังคม สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ดาวน์โหลดที่นี่ แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก **โดยขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง

2. นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชย์ทดแทน สปส.2-01/7 และจดบันทึกแจ้งข้อมูลการหยุดงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน

3. นายจ้างบันทึกข้อมูลดังต่อไปนี้ในระบบ e-Service คลิกที่นี่ บนเว็บไซต์สำนักงาน ประกันสังคม ได้แก่

  • หนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีกักตัวหรือกรณีปิดตามคำสั่งทางราชการ
  • ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกันตนในแบบ สปส. 2-01/7 ได้แก่ เลขที่บัญชีธนาคารของผู้ประกันตน หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งได้ยื่นไว้กับนายจ้างในแบบคำขอ

**ทั้งนี้ กรณีนายจ้างเข้าใช้งานระบบ e-Service เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนก่อน

4. นายจ้างส่งแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ที่ได้บันทึกไว้บนระบบ e – Service ไปยังสำนักงาน ประกันสังคม ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลบน e – Service เสร็จสิ้น

5. ระบบทำการประมวลผลในแต่ละวัน โดยรวบรวมทุกรายการที่นายจ้างได้บันทึกข้อมูลแล้วส่งเข้าสู่ระบบ Sapiens ต่อไป ถ้าข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง

6. ระบบ Sapiens ประมวลผลในรูปแบบรายงานภายใต้สถานประกอบการรายบุคคล

7. เจ้าหน้าที่วินิจฉัย บันทึกวินิจฉัยสั่งจ่ายบนระบบ Sapiens รายคน

8. ระบบประมวลผลสั่งจ่ายข้อมูลเข้าบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้

9. กรณีบัญชีถูกต้อง เงินจะโอนเข้าบัญชีลูกจ้างผู้ประกันตนภายใน 5 วันทำการ แต่กรณีที่เลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง นายจ้าง/ผู้ประกันตนต้องโทรหรือไลน์แจ้งบัญชี จากนั้นจะย้อนกลับไปขั้นตอนที่ 7 เจ้าหน้าที่วินิจฉัยสั่งจ่ายบน ระบบ Sapiens รายคน

ทั้งนี้ เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้น ให้นำแบบฯ และหนังสือข้อมูลดังกล่าวข้างต้นในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สำนักงาน ประกันสังคม จะโอนเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วันทำการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อ ที่สำนักงานประกันสังคม อีกทั้งลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo