Economics

เกษียณอย่างไรให้รวย แก่อย่างไรให้มีเงินเหลือใช้ วางแผนไว้ตั้งแต่วันนี้เลย!!

เกษียณ อย่างไรให้รวย แก่อย่างไรให้มีเงินเหลือใช้ ผู้สูงวัยที่อยากมีเงินไว้ใช้จ่ายสบาย ๆ ตลอดช่วงเกษียณ เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ หลังประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “ภาวะสังคมสูงวัย” อย่างสมบูรณ์ในปี 2566

หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาสที่ 3/2563 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี จากก่อนหน้าอยู่ที่ 78.9% ของจีดีพี โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถานะทางการเงินของคนไทย เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “ภาวะสังคมสูงวัย” อย่างสมบูรณ์ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2566 สัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น การดูแลสังคมผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นผู้สูงวัย เช่น มีการเก็บออมเงินตั้งแต่วันทำงานเพื่อใช้จ่ายในวันเกษียณ

จากข้อมูลของการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ในปี 2560 พบว่า ในช่วงหลัง เกษียณ ผู้สูงอายุประมาณ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้หลักจากบุตรหลาน อีก 31% ต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และ 2.3% พึ่งตนเองจากเงินออม สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจมีความเสี่ยงต้องเผชิญภาวะเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต

เกษียณ

ดังนั้น ถ้าไม่อยากประสบปัญหา “เงินหมด” ก่อนถึงวันสุดท้ายของชีวิตก็อย่าชะล่าใจ เราต้องบริหารจัดการเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในทุกเดือน ซึ่งเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วย 5 เคล็ดลับวางแผนทางการเงินสำหรับผู้สูงวัย ให้ลองนำไปปรับใช้กัน

1. ตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายทั้งหมด

ในวัยสูงอายุเช่นนี้ รายรับที่เข้ามาย่อมไม่แน่นอน สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ต้องตรวจสอบว่ายังมีรายได้จากส่วนไหนเข้ามาบ้าง เช่น เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐ หรือแม้แต่เงินที่ได้จากการลงทุน การขายกองทุนรวม LTF RMF เงินปันผล เงินคืนจากประกันชีวิต เป็นต้น

พอทราบรายรับทั้งหมดแล้ว ทีนี้ก็มารวบรวมข้อมูลรายจ่ายในแต่ละเดือน แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ก็คือ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง แต่บางคนอาจจะมีค่าช้อปปิ้ง ค่าท่องเที่ยว ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมบ้านหรือรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้ล่ะที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เงินเก็บลดลงเรื่อย ๆ

วิธีง่าย ๆ ก็คือ ให้ตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายในแต่ละประเภท พร้อมกับจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายเอาไว้ทุกครั้ง นอกจากจะป้องกันไม่ให้เงินรั่วไหล ยังได้เห็นว่าเราใช้จ่ายกับสิ่งไหนมากเกินไปไหม และสถานการณ์ทางการเงินตอนนี้เป็นอย่างไร ถ้ามีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ จะได้หาทางลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง เพื่อจัดสรรเงินที่มีอยู่ให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมในทุก ๆ เดือน

2. เคลียร์หนี้สินที่มี

เงินเก็บที่มีอยู่อาจไม่พอใช้ถึง 10 ปี 20 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ ถ้าวันนี้ยังมีภาระหนี้สินติดตัวอยู่ จึงต้องพยายามปลดหนี้ทุกอย่างให้เร็วที่สุด ยิ่งปลดหนี้ได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งใช้ชีวิตได้สบายขึ้นเร็วเท่านั้น ซึ่งผู้สูงอายุหลายคนได้รับเงินก้อนมาจากเงินบำเหน็จบำนาญ หรือเงินจากการลงทุน ขายกองทุนรวม LTF และ RMF ก็สามารถนำเงินส่วนนี้มาโปะหนี้ได้เลย โดยเลือกเคลียร์หนี้สินที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย หรือจ่ายหนี้ที่มีมูลหนี้คงเหลือน้อยที่สุดเป็นการปิดบัญชีให้เหลือเจ้าหนี้น้อยราย จะได้มีเงินเหลือไว้สำหรับใช้จ่ายอื่น ๆ

เกษียณ

3. ลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยง

ต้องไม่ลืมว่าราคาข้าวของแพงขึ้นทุกวันตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การเก็บเงินไว้เฉย ๆ ไม่นำมาลงทุนอะไรเลย มูลค่าของเงินจะลดลงเรื่อย ๆ จึงควรแบ่งเงินบางส่วนออกมาลงทุน ปล่อยให้เงินทำงานแทนเรา แต่ก็ต้องรู้จักเลือกลงทุนให้เหมาะสมด้วยค่ะ โดยมีคำแนะนำ คือ

ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับดอกเบี้ย หรือเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ จะได้มีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เลือกลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น เงินฝาก, ตราสารหนี้, พันธบัตรรัฐบาล, สลากออมทรัพย์, กองทุนรวม, หุ้น ฯลฯ

เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง มากกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการขาดทุนและสูญเสียเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต แต่ก็ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำมากจนสู้อัตราเงินเฟ้อไม่ไหว

จากคำแนะนำข้างต้น เราอาจแบ่งพอร์ตการลงทุนได้ ดังนี้

  • สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายในเวลาที่ต้องการใช้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์, กองทุนรวมตลาดเงิน ประมาณ 20-40% หรือประมาณ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำ
  • สินทรัพย์ที่เหมาะกับการลงทุนระยะกลาง เช่น สลากออมทรัพย์, พันธบัตรรัฐบาล, กองทุนตราสารหนี้, หุ้นกู้ ประมาณ 30-50%
  • สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เช่น หุ้น, กองทุนรวมหุ้น, กองทุนอสังหาริมทรัพย์, ทองคำ ประมาณ 5-15%

ทั้งนี้ การจัดพอร์ตต้องขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ด้วยนะคะ หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น เพิ่มสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์เป็นมากกว่า 50% ขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเงินต้นเอาไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะลงทุนประเภทใด ต้องศึกษาข้อมูลและพิจารณาให้รอบด้านก่อนทุกครั้ง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน

4. อย่าลืมเรื่องสุขภาพ

เมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกายก็ค่อย ๆ ถดถอยไปตามกาลเวลา คนวัยนี้จึงมีโอกาสเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุได้ง่าย และเดี๋ยวนี้ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ใช่น้อย ๆ หากเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมา อาจถึงขั้นสูญเสียเงินเกือบทั้งหมดที่เก็บออมมาทั้งชีวิตได้เลย

เพื่อไม่ให้ความเจ็บป่วยทั้งหลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเงินไม่พอใช้ในอนาคต ผู้สูงวัยต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี จะได้รักษาอาการป่วยตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนโรคลุกลาม รวมทั้งทำประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ติดตัวไว้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

5. จัดการเรื่องทรัพย์สินมรดก

การเตรียมพร้อมไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่างน้อยก็ช่วยลดความยุ่งยากให้กับลูกหลาน หรือถ้าคุณเป็นโสด อยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลาน ยิ่งจำเป็นต้องจัดสรรทรัพย์สินที่มีอยู่ไว้ล่วงหน้า เพราะการแจกแจงทรัพย์สิน-หนี้สินว่ามีอะไรบ้าง อาจทำให้เห็นช่องทางเปลี่ยนทรัพย์สินบางอย่างให้เป็นเงินสดหมุนเวียน หรือต่อยอดลงทุนเพิ่มผลตอบแทนให้มีเงินเหลือเพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

หลังจากจัดการทั้ง 5 ข้อตามนี้เรียบร้อย ก็คงจะพอทราบแล้วนะคะว่า เงินที่มีอยู่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นทุกวันไหม หากใครรู้ตัวว่าวางแผนเกษียณช้าเกินไป จึงมีเงินออมเหลือไม่พอใช้แน่ ๆ จะได้มองหาหนทางที่จะช่วยให้มีรายรับเพิ่มเข้ามา ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในสังคมผู้สูงอายุขณะนี้ก็คือ “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” หรือ Reverse Mortgage ที่ให้ผู้สูงอายุนำบ้านปลอดภาระหนี้ของตัวเองมาจำนองกับธนาคาร แล้วธนาคารจะจ่ายเงินกู้ ให้ทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต หรือครบอายุสัญญากู้เงิน เปรียบเหมือนกับได้รับเงินบำนาญไปตลอดชีวิตนั่นเอง โดยที่คุณยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นได้จนกว่าจะเสียชีวิต

ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารออมสิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo