Economics

ส่งออกเดือน มี.ค. พุ่ง 8.47% มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์!!

กระทรวงพาณิชย์ เผย ส่งออกเดือน มี.ค. 2564 มีมูลค่า 24,222.45 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.47% ชี้มูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 28 เดือน ยันโควิดรอบสาม ยังไม่มีสัญญาณกระทบการส่งออกของไทย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มูลค่าการส่งออกของไทยยังอยู่เหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดย ส่งออกเดือน มี.ค. มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวที่ 8.47% สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้า และเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 6.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5% เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งคาดว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐ (+6.4%) จีน (+8.4%) ญี่ปุ่น (+3.3%) และประเทศในทวีปยุโรป (+4.4%)

ส่งออกเดือน มี.ค.

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวถึง 11.97% สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ขณะที่ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกขยายตัวที่ 2.27% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ ไตรมาสแรกขยายตัวที่ 7.61%

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวได้ดี และเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกในเดือนนี้ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหารที่ยังเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์เลี้ยง

สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ด้านตลาดส่งออกสำคัญมีทิศทางทีดีขึ้นตามลำดับ โดยหลายตลาดขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป (15) และเอเชียใต้ นอกจากนี้ หลายตลาดส่งสัญญาณฟื้นตัว อาทิ ตลาด CLMV ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ที่กลับมาขยายตัว รวมถึงตะวันออกกลาง (15) และอาเซียน (5) ที่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนมาก

ส่งออกเดือน มี.ค.

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 โดยการส่งออกของไทยระยะต่อไป คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก

  1. การฟื้นตัวภาคการผลิตของโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
  2. ประสิทธิภาพของการกระจายวัคซีน ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น
  3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มส่งผลในทางบวกต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคของประชาชน
  4. ราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว คาดว่าจะเป็นแรงหนุนให้การส่งออกกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

โดยปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่

  1. อุปสรรคการค้าชายแดนในเมียนมา โดยเฉพาะการประท้วงที่เกิดขึ้นยาวนานอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของเมียนมาในภาพรวม
  2. ต้นทุนค่าระวางขนส่งทางเรือของผู้ประกอบการอาจสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ
  3. เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ นายภูสิต กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ จะทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ใหม่ ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ตั้งเป้าว่าจะขยายตัวได้ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดี จะต้องมีการประชุมหารือในระดับนโยบายระหว่าง รมว.พาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มต่างๆ ตลอดจนการประชุมของทูตพาณิชย์ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาประมวลเพื่อใช้สำหรับการทบทวนเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสโควิดในระลอกล่าสุดนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในภาพรวมของไทย เนื่องจากมาตรการของภาครัฐในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไม่ได้มีผลกระทบต่อภาคการผลิต และการขนส่งสินค้าของเอกชนแต่อย่างใด แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้บางประเทศเริ่มกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะประสานกับผู้ประกอบการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที หากเกิดปัญหาที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย

“โควิดรอบสาม ก็ยังไม่มีสัญญาณจะกระทบกับการส่งออกของไทย เพราะนโยบายควบคุมการระบาดของภาครัฐไม่ได้กระทบกับการผลิต หรือการขนส่งสินค้า แรงงาน และกำลังการผลิตในโรงงานยังไม่มีผลกระทบ ต้องรอดูสถานการณ์จากต่างประเทศด้วย เพราะเริ่มมีการกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ แต่หากวัคซีนโควิดกระจายได้ทั่วถึง หลายประเทศก็จะเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ตามเดิม ก็จะสร้างความเชื่อมั่นในการนำเข้าสินค้า เช่นกรณีของสหรัฐฯ ที่มีการสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น” นายภูสิต กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo