Economics

น่าห่วง! ‘คนไทย’ หนี้สูง – 5.8 ล้านครัวเรือนไร้เงินออม เสี่ยงทุกข์ยามเกษียณ

น่าห่วง! “รมว.คลัง” ชี้ “คนไทย” หนี้สูง – 5.8 ล้านครัวเรือนไม่มี เงินออม เจอวิกฤติโควิด – 19 สะท้อนความเปราะบาง เสี่ยงทุกข์ยามเกษียณ

วันนี้ (22 เม.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน Financial Literacy” ในพิธีเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า

คนไทย เงินออม

สถานการณ์ด้านการเงินของคนไทย มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ และติดตามอย่างใกล้ชิด 4 ประการ ได้แก่

1.หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากก่อนหน้าอยู่ที่ 78.9% ของ GDP โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถานะทางการเงินของคนไทย เมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ

2.ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2566 สัดส่วนของผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น การดูแลสังคมผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นผู้สูงวัย เช่น มีการเก็บออมเงินตั้งแต่วันทำงานเพื่อใช้จ่ายในวันเกษียณ

จากข้อมูลของการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ในปี 2560 พบว่า ในช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุประมาณ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้หลักจากบุตรหลาน อีก 31% ต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และ 2.3% พึ่งตนเองจากเงินออม สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจมีความเสี่ยงต้องเผชิญภาวะเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต

3.ผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทย เมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2561 สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทย 5.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 27.1% ไม่มี เงินออม ส่วนครัวเรือนที่มีการออมเงิน มีประมาณ 15.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 72.9%

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงวิธีการออมพบว่า คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม ส่วน 38.5% มีพฤติกรรมการออมที่ไม่แน่นอน และอีก 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้

4.ทักษะความรู้ด้านการเงินของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาเหล่านี้เป็นผลสะท้อนทางเศรษฐกิจและสังคม ในเชิงโครงสร้างและปัจเฉกบุคคล ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ

“สถานการณ์ด้านการเงินของคนไทยเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น พื้นฐานความรู้ด้านการเงินของคนไทย รวมทั้งการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน”

176308953 1642585165946793 5684028214769614347 n e1619092928578
                                อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ

นายอาคม กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนในระยะต่อไป ต้องให้ความสำคัญ 5 เรื่องได้แก่

1. การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกว่า “อีโคซิสเต็มของตลาดเงินและตลาดทุน” โดยให้ความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ฟินเทค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัย และการกำกับดูแลให้ระบบ การเงิน และตลาดทุนมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ให้เป็นพื้นฐานต่อยอดเรียนรู้ และการสร้างโอกาส เพื่อให้สามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้

3.การเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง โดยการวางแผนที่ดี และข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ หลังประชาชนต้องมีการปรับตัวในเกือบทุกด้านจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยการเรียนรู้ ฝึกฝน ให้เกิดทักษะที่จะบริหารจัดการเงินให้เกิดความพร้อมที่จะรับกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่เกิดขึ้นได้

4.การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออมด้วย เพื่อให้เกิดผลจริง ให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ ลดปัญหาการเงินในครัวเรือนลงได้ มีวิธีการในการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงิน และมีความรู้เพียงพอที่จะต่อยอดเรียนรู้เทคโนโลยีทางการเงิน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ

5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านความรู้ทางด้าน การเงิน เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายในทิศทางเดียวกัน สามารถใช้หรือแบ่งปันเนื้อหา องค์ความรู้ หรือเครื่องมือในการให้ความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ประชาชนในการยกระดับความรู้การจัดการการเงินของคนไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo