Economics

เคาะสร้าง ‘สะพานขึง’ เชื่อมเกาะลันตาน้อย จ.กระบี่ เดินหน้าของบ 1,600 ล้าน

รับฟังความเห็นเคาะรูปแบบ “สะพานขึง” เชื่อมเกาะลันตาน้อย จ.กระบี่ เดินหน้าส่งรายงานสิ่งแวดล้อม – ของบสร้าง 1,600 ล้านตามขั้นตอน

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช. ได้เล็งเห็นความจําเป็นของการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านหัวหิน ตําบลเกาะกลาง กับเกาะลันตาน้อย ตําบลเกาะลันตาน้อย อําเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญสู่ชุมชน อํานวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนเกาะลันตา

เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน จากนั้นลงแพขนานยนต์ที่ท่าเรือบ้านหัวหิน เพื่อไปยังท่าเรือบ้านคลองหมากของเกาะลันตาน้อย โดยการใช้แพขนานยนต์ แม้จะเป็นระยะทางสั้นเพียง 1.53 กิโลเมตร แต่เนื่องจากแพขนานยนต์บรรทุกรถได้น้อย มีจํานวนจํากัดและให้บริการในช่วงเวลา 06.00 – 22.00 น. เท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน

สะพานขึง เกาะลันตาน้อย กระบี่ 5446

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดําเนินโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทช. จึงได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยได้เชิญกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นต้น โดยแบ่งเป็น การประชุมปฐมนิเทศโครงการ, การประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (2 กลุ่ม) และการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 (รวมทั้งหมด3 ครั้ง) เพื่อสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม

ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกเส้นทางพื้นที่ศึกษาจุดเริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 ไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 2,240 เมตร

รูปแบบโครงการ สรุปได้ว่าเป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีความยาวช่วงสะพานมากกว่าสะพานทั่วไปทําให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำ มีขั้นตอนในการก่อสร้างซึ่งรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด

ต่อมา ทช. ได้จัดการประชุมหารือมาตรการและประชุมปัจฉิมนิเทศ เพื่อนําเสนอแนวสายทาง รูปแบบโครงการ พร้อมผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันแก้ไขลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงสรุปผลการศึกษาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ในส่วนของโครงสร้างที่อยู่ในทะเลนั้น จะมีมาตรการป้องกัน การสั่นไหวเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ป้องกันการกัดเซาะ ป้องกันการเกิดสนิม ซึ่งสายเคเบิลสะพานที่เป็นเหล็กได้ถูกออกแบบให้สามารถป้องกันการเกิดสนิม

โดยลักษณะการป้องกันสนิมที่สายเคเบิ้ล ประกอบด้วย การป้องกันด้วยท่อพลาสติกหุ้มอยู่ภายนอก ป้องกันไอน้ำทะเล และแสง UV, ภายในท่อพลาสติกดังกล่าว มีการอัดน้ำปูน-ทราย หุ้มสายเคเบิ้ลไว้อีกชั้นหนึ่ง ทําให้ไม่มีช่องว่างให้อากาศชื้นที่มีความเค็มของไอทะเลเข้าไปอยู่ภายในท่อพลาสติกได้, การป้องกันสนิมที่ตัวสายเคเบิ้ล โดยมีสารเคลือบป้องกันสนิมโดยตรงตามมาตรฐานสากล ตลอดจนมีระบบตรวจสอบสภาพการเกิดสนิมและใช้ระบบไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวการเกิดสนิม ไม่ให้เกิดที่สายเคเบิ้ล แต่ให้มาเกิดที่บ่อดักสนิมด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตแทน การป้องกันสนิมด้วยวิธีนี้เรียกว่า ระบบแคโทดิก เป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงจากแหล่งกําเนิดภายนอกเพื่อยับยั้งการเกิดสนิมของโลหะ

สะพานขึง เชื่อม เกาะลันตาน้อย

สําหรับขั้นตอนกระบวนการหลังจากการประชุมปัจฉิมนิเทศนั้น ทช .จะส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยัง สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน

ทั้งนี้ ขั้นตอนสุดท้ายจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบและเสนอขอ งบประมาณในปี 2565 คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo