Economics

โดนอีก! อนุญาโตตุลาการสั่ง ‘กทพ.’ จ่ายค่าเสียหาย ‘BEM’ 9 พันล้านบาท

โดนอีกดอก!! อนุญาโตตุลาการสั่ง “กทพ.” จ่ายค่าเสียหาย “BEM” 9 พันล้านบาท ฐานไม่ให้ปรับค่าทางด่วนตามสัญญา ด้าน “สุรงค์” เร่งแก้ปัญหาคดีฟ้องร้องคาศาลอีกหลายหมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้แจ้งต่อ ตลท. ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 คณะอนุญาโตตุลาการ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดใช้ค่าเสียหายแก่ BEM เป็นเงินต้น 7,909.59 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย จำนวนรวมทั้งหมด 9,091.79 ล้านบาท เนื่องจากการทางพิเศษฯ ไม่ให้ BEM ปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) เฉลิมมหานครและทางด่วนศรีรัชตามผลการศึกษาและสัญญาที่ระบุไว้

ทางด่วน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2556 บริษัทสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับคำชี้ขาดได้ ขณะที่การทางพิเศษฯ อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด

แหล่งข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวเกิดจากบริษัทศึกษาโครงสร้างราคาที่เหมาะสมในการจัดเก็บค่าทางด่วนช่วงดังกล่าว แต่การทางพิเศษฯ ยืนยันจะให้จัดเก็บค่าทางด่วนในอีกราคาหนึ่ง ซึ่งต่ำกว่าการศึกษา ถือเป็นการแปลสัญญาไม่เหมือนกัน เกิดเป็นการกำหนดราคาที่ต่างกัน ทำให้บริษัทต้องแบกรับต้นทุน อีกทั้งตามสัญญายังกำหนดว่าให้คำนวณโครงสร้างราคาตามปริมาณรถยนต์ใช้บริการ แต่ที่ผ่านมาการทางพิเศษฯ ไม่ให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางที่โดยปกติจะต้องปรับทุก 5 ปี ส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหาย

สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์3

ผู้ว่า กทพ. ยังไม่ทราบเรื่อง

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบข้อมูลเรื่องดังกล่าว จึงไม่สามารถให้คำตอบได้

คดีฟ้องร้องยังคาศาลอีกหลายหมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (บอร์ด กทพ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้การทางพิเศษฯ ไปหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องคดีฟ้องร้องขององค์กรในระยะยาว เพราะกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การทางพิเศษฯ จ่ายค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM เป็นวงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาทเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น

ในภาพใหญ่ การทางพิเศษฯ มีคดีฟ้องร้องในชั้นศาลอีกหลายคดี คิดเป็นวงเงินหลายหมื่นล้านบาท ถ้าหากการทางพิเศษฯ แพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดเชยทั้งหมด ก็จะกระทบต่อสถานะการเงินขององค์กรอย่างแน่นอน พนักงานก็คงไม่มีโบนัสไปอีกเป็น 10 ปี ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องการให้แก้ไขปัญหาในภาพใหญ่มากกว่าเรื่องค่าชดเชยเพียง 4,000 ล้านบาท

ทางด่วน1
ภาพจาก exat.co.th

นายสุรงค์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นการทางพิเศษฯ มีแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งหมด 3 ทางเลือก โดยนำโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 2 ซึ่งกำลังจะหมดสัญญากับ BEM ในปี 2563 มาใช้ในการแก้ไขด้วย ได้แก่

1) การทางพิเศษฯ จะนำโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 มาบริหารเองและการทางพิเศษฯ จะจ่ายเงินค่าฟ้องร้องคดีในชั้นศาลเองทั้งหมด

2) การทางพิเศษฯ จะเจรจาต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 กับ BEM แต่ BEM จะต้องลดหรือยกเว้นหนี้สินหรือค่าชดเชยในคดีต่างๆ ให้กับการทางพิเศษฯ

3) การทางพิเศษฯ จะเปิดประมูลทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นการทั่วไป โดยผู้ชนะการประมูลต้องรับทรัพย์สินและภาระหนี้สินจากฟ้องร้องคดีไปด้วย

บอร์ดการทางพิเศษฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและจะต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ทางเลือก กลับไปให้ที่ประชุม ครม. เลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดภายใน 90 วัน นับจากวันที่ 21 กันยายน 2561เพื่อให้ทันการจ่ายค่าชดเชยมูลค่า 4 พันล้านบาทแก่ BEM ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

สำหรับกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ออกมาคัดค้าน ไม่ให้นำสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ไปเจรจากับ BEM เพื่อแลกกับลดค่าชดเชยนั้น นายสุรงค์กล่าวว่า ถ้าไม่ต้องการทางเลือกนี้ สหภาพฯ ก็ต้องบอกว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรถึงจะดีที่สุด เพราะบางครั้งก็ต้องกินยาขมบ้างเพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าบอร์ดการทางพิเศษฯ เป็นผู้ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเท่านั้นและสุดท้าย ครม. จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมเอง

Avatar photo