Economics

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฟันธงส่งออกไทยปีนี้สดใส คาดขยายตัว 4.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยปี 2564 จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ คาดกลับมาเติบโตได้ 4.5% หรือในกรอบประมาณการที่ 3.5 – 5.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ตัวเลขการส่งออกล่าสุดของไทยในเดือนมกราคม 2564 แม้จะเติบโตเพียง 0.3% แต่เมื่อหักทองคำออกยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ 6.3% สะท้อนภาพบวกของการฟื้นตัวของตลาดคู่ค้าไทยในปีนี้ สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นขยาย 5.5% (จากเดิม 5.2%) โดยเฉพาะสหรัฐที่ได้แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนขยับคาดการณ์เป็น 5.1% (จาก 3.1%) รวมทั้งการกลับมาเร่งตัวของเศรษฐกิจจีน คาดว่าเติบโตอย่างโดดเด่น 8.1% ตลอดจนแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในฝั่งยุโรป ล้วนปลดล็อคข้อจำกัดทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ด้วยภาพบวกดังกล่าวของเศรษฐกิจโลก ที่ทยอยฟื้นกลับมาได้มากขึ้นในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ก็จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ โดยคาดว่าปีนี้ การส่งออกไทยจะกลับมาเติบโตได้ 4.5% หรือในกรอบประมาณการที่ 3.5 – 5.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 จะกลับมาสดใสได้อย่างน่าสนใจ ทั้งในมิติของตลาด และมิติของสินค้า โดยมิติของตลาดนั้น ทุกตลาดกลับมาสดใส ผ่านพ้นจุดต่ำสุด และอานิสงส์จากฐานต่ำจึงกลับมาเร่งตัวดี จากการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด เข้ามาช่วยคลี่คลายข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ส่งผลบวกให้แต่ละตลาดฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่มิติของสินค้านั้น การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่กลับมาเติบโต ตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวกลับมาเป็นตัวเสริมให้ทุกสินค้าไปได้ดีในปี 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับแนวโน้มในระยะต่อไป การส่งออกของไทย ยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้ อาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งการส่งออกที่ฟื้นกลับมา ยังมีระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด อีกทั้งการเร่งตัวดังกล่าว เป็นการเติบโตที่มาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว บวกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น แม้จะได้อานิสงส์จากวิกฤตโควิด ทำให้สินค้า IT ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่การเติบโตดังกล่าวอาจไม่สามารถขับเคลื่อนการส่งออกของไทยได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ท้าทายการส่งออกไทยมาโดยตลอด และยิ่งกดดันให้สินค้าไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้า IT แข่งขันยากขึ้นไปอีก โดยค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน โดยแข็งค่ามากว่า 30% นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ประกอบกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ทยอยดีขึ้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าได้อีก เมื่อบวกกับต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานไทยที่เสียเปรียบประเทศอื่นในอาเซียน ก็คงยากที่นักลงทุนจะเลือกไทยเป็นแหล่งขยายการลงทุนเพื่อการส่งออกในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โจทย์หลักของไทย คงต้องเร่งสร้างความยั่งยืนจากการส่งออกสินค้าที่มาจากรากฐานการผลิตที่เป็นของไทยเอง นอกเหนือจากการพึ่งพานักลงทุนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าที่นับเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยอย่างสินค้าเกษตร (ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง) อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ที่ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง ซึ่งการต่อยอดการผลิตสินค้าเดิมให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่ม

รวมทั้งการยกระดับการผลิตไทยไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดได้จริง ก็จะยิ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งรับการลงทุนจากต่างชาติในสินค้าที่เหนือชั้นกว่าคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ควรหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo