Economics

‘แรงงาน’ ย้ำ! ‘อาชีพห้ามต่างด้าวทำ’ 40 ประเภท ฝ่าฝืนถูกปรับหลักแสน

“สุชาติ” ย้ำ! แรงงานลาว – เมียนมา – กัมพูชา มี “อาชีพห้ามต่างด้าวทำ” 40 ประเภท หากทำผิดผู้ประกอบการถูกปรับหลักแสน ห้ามจ้างอีก 3 ปี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการผลิต การเกษตร และการบริการในหลายภาคส่วน

อาชีพห้ามต่างด้าวทำ

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงาน พร้อมจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของ ศบค. โดยไม่ทิ้งหลักสิทธิมนุษยชน กระทรวงแรงงานจึงมีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบ ควบคุม และบริหารจัดการแรงงาน ต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง

“ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานตามประกาศฉบับนี้มีสิทธิทำงาน กับนายจ้างได้ทุกประเภทงานที่ไม่ได้เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ

เช่นเดียวกับคน ต่างด้าว ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลง หรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) และในกรณีที่ทำงานกรรมกรหรือ งานขายของหน้าร้านก็ให้เป็นไปตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง เงื่อนไขการรับคนต่างด้าวเข้าทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านกับนายจ้าง  และหากคนต่างด้าวออกจากงาน จะต้องทำงานกับนายจ้างใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างเดิม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

shutterstock 1598015770 e1608800067887

40 อาชีพห้ามต่างด้าวทำ

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีจำนวนรวม 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน และงานที่ให้คน ต่างด้าว ทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน

โดยแบ่งงานออกเป็น 4 บัญชี บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ27.งานบริการทางกฎหมาย

บัญชีที่ 2 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย จำนวน 3 งาน ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้  3 อาชีพ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม

บัญชี 3 งานที่ห้ามคน ต่างด้าว ทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา

บัญชีที่ 4 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน

“ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคน ต่างด้าว ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากตรวจพบการฝ่าฝืนกฎหมาย นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี และคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo