Economics

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ 49.4 หลังรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ – คลายกังวลการแพร่ระบาด “โควิด”

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการ กลับมาปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นมา โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 47.8 เป็น 49.4 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยเริ่มปรับตัวลดลง ประกอบกับการเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิดของรัฐบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงอย่างชัดเจน

ตลอดจนการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิดในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตร ปรับตัวดีขึ้นแทบทุกรายการส่งผลให้กำลังซื้อในทุกภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นได้

image big 6049a5b50be99

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 43.4 46.1 และ 58.7 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนม.ค. ที่อยู่ในระดับ 41.6 45.1 และ 56.8 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 32.4 มาอยู่ที่ 33.7 แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.1 มาอยู่ที่ระดับ 56.8 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ทั้งนี้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศมีแผนการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศดำเนินการได้กว้างขวางขึ้นในอนาคต เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วยเช่นเดียวกัน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า ผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมโควิด-19 ในไทยว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาเยียวยาผลกระทบรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 จาก โครงการเราชนะ, คนละครึ่ง และเรารักกัน ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งปัจจัยทั้งสามจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo