Economics

เดินหน้าศึกษา ‘Land Bridge’ รอบใหม่ ดันเป็นฮับขนส่งทางน้ำสู้ ‘ช่องแคบมะละกา’

เดินหน้า ศึกษา “Land Bridge” รอบใหม่คาดลงทุน 1 แสนล้าน ดันเป็นฮับขนส่งทางน้ำสู้ “ช่องแคบมะละกา” ประเทศสิงคโปร์

วานนี้ (1 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge)

ลงนามที่ปรึกษา Land Bridge

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 100,000 ลำต่อปี และคาดว่าในปี 2567 การรองรับปริมาณเรือของช่องแคบมะละกาจะเต็มศักยภาพ โดยคาดการณ์ว่าปี 2593 ปริมาณเรือที่ผ่านจะมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่า

ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อ ศึกษา การพัฒนาโครงการ Land bridge ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม

ขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย 1.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม 2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ 5.สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2565

โครงการ Land Bridge

สำหรับโครงการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมจะบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ ฃและท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย (Smart Port) ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชั่น รวมทั้งการพัฒนา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ ตลอดจนวาง ระบบการขนส่งทางท่อ โดยทำการก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน

วงเงินลงทุนทั้งโครงการ ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบ PPP ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยสร้างโอกาส สร้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น

land bridge ประยุทธ์

“นายกฯ” มอบนโยบายฟื้น “Land Bridge” สร้างเศรษฐกิจใหม่

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้นโยบายในการฟื้นฟูโครงการ Land Bridge ว่า วันนี้เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ จากเดิมเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา 2 อย่างพร้อมกัน ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมาก เพราะรายได้ของประเทศลดลง มันจำเป็นต้องสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่เรากำลังทำให้เกิดขึ้น

ถึงแม้เราจะมีแผนงานโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้วก็ตาม แต่วันหน้าเราก็ต้องมีแผนงานโครงการขนาดใหญ่ในการลงทุนในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ อันนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของเรา ทุกอย่างมันต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง EEC ก็เริ่ม 5 ปีแล้ว ก็ไปได้ระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องหาโครงการใหม่

กำลังดูว่า เราจะเชื่อมการไปมาทั้ง 2 ฝั่งตะวันตก-ตะวันออกได้อย่างไร มันควรจะมีไหม ศึกษาในเรื่องของโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land Bridge) อะไรทำนองนี้ กำลังให้แนวทางไปศึกษากันอยู่

ผมคิดว่าจะช่วยเศรษฐกิจในระยะยาวได้ในโอกาสต่อไป การขนส่งข้ามฝั่งตะวันตก-ตะวันออก อ่าวไทยกับอันดามัน ท่าเรือต่างๆ ต้องพัฒนาทั้งหมด อันนั้นอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องเดินทางต่อไป ขั้นตอนการศึกษา ขั้นตอนการลงทุน ต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโครงการ Land Bridge ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2566 ในวงเงิน 68 ล้านบาท ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นกรณีเฉพาะราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo