Economics

‘บางจาก’ ชู ‘นวัตกรรม’ สร้างจุดเด่นเสริมรายได้

 

“บางจาก” เดินหน้าปรับแผนการดำเนินธุรกิจ-ปรับองค์กร ขยายศักยภาพในการบริหารงาน ลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ ชู “นวัตกรรมสีเขียว” สร้างจุดเด่น เสริมรายได้บริษัท

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2563 บางจากฯ และบริษัทรายย่อย เผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมาก จนถึงระดับที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

bang

อย่างไรก็ดี จากการที่กลุ่มบริษัทฯ ได้พยายามลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่กระชับ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ และปรับองค์กร เพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า ตลอดจนดำเนินมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และหารายได้เพิ่ม รวมทั้งให้ความสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่าย สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 900 ล้านบาท จากงบประมาณที่ตั้งไว้

สำหรับปี 2564 คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยกำลังจะได้รับวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบางจากฯ หลังจากปรับโครงสร้าง เสริมสภาพคล่องให้แข็งแรง มีความพร้อมในการปรับตัว ขยายศักยภาพในการบริหารงาน และการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ พร้อมรุกไปข้างหน้าเต็มที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มในทุกธุรกิจ

S 115474451

ในปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ละกลุ่มธุรกิจของบางจากฯ มีผลการดำเนินงานดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน

ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าการกลั่นพื้นฐาน 3.20 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล ลดลง 2.21 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลจากปีก่อน ทำให้โรงกลั่นต้องปรับลดกำลังการผลิต มาอยู่ในระดับ 97,200 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น

อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงในปีนี้ ส่งผลให้โรงกลั่นมี Inventory Loss 4,379 ล้านบาท

บริษัท BCP Trading ยังคงเติบโต มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยหลักมาจากการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตามมาตรการ IMO อีกทั้งมีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ใหม่ และขยายตลาดการซื้อขาย
กลุ่มธุรกิจการตลาด

ปริมาณการจำหน่ายรวมลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และสายการบิน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงขยายจำนวนสถานีบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นปี 2563 ทั้งสิ้น 1,233 สาขา มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 15.6 (ตามข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) และครองความนิยมเป็นลำดับที่ 1 ในใจของผู้ใช้บริการ 2 ปีซ้อน จากดัชนีวัดความพึงพอใจของลูกค้าตามผลประเมิน Net Promoter Score (NPS)

S 115474445

จำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานในสถานีบริการ น้ำมันทั่วประเทศ และได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Gasohol S EVO FAMILY พร้อมทั้งยกระดับ E20 S EVO เป็นน้ำมันคุณภาพพรีเมียม นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรมระบบ Digital Payment มาใช้สำหรับการชำระเงิน เป็นรายแรกในประเทศไทยที่ให้บริการแบบครบวงจร

ร้านกาแฟอินทนิล ณ สิ้นปี 2563 มีทั้งสิ้น 673 สาขา เป็นร้านกาแฟรายเดียวที่ได้รับรางวัล Best Coffee GET Awards 2019 และ Best Operation Grab Food Awards 2020 จาก Food Delivery อีกทั้งยังได้รับรางวัล Thai Star Packaging Award 2020 ประเภทบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

  • กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า

เติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุน ในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้ง 2 โครงการ 114 เมกกะวัตต์ ในลาว และการเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย “RPV” จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกกะวัตต์

S 115474446 1

ส่งผลให้มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งหมดจำนวน 473.7 เมกกะวัตต์ และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 270 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย มีการบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ Refinance เงินกู้เดิม 172 ล้านบาท

จากการ Refinance เงินกู้ดังกล่าว ทำให้บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (“BCPG”) ได้รับชำระคืนค่าหุ้นจากการลดทุนของบริษัทร่วม Star Energy Group Holding Pte. Ltd., จำนวนประมาณ 842 ล้านบาท (ตามสัดส่วนที่เป็นของ BCPG ร้อยละ 33.33)

นอกจากนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท BCPG ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียน ด้วยการออก และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1,300 ล้านหุ้น คาดว่าจะได้เงินทุนเพิ่มราว 10,200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และเงินเพิ่มทุนบางส่วน จะถูกนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม ทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ แข็งแกร่งมากขึ้น

S 115474447

  • กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

มีผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง และสูงสุดตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการมา โดยธุรกิจไบโอดีเซล กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 177 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น และรายได้จากการขายปรับเพิ่มขึ้น จากราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ B100 ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์ม

ด้านธุรกิจเอทานอล ราคาขายเอทานอลปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ ถึงแม้ความต้องการใช้เอทานอลในภาคพลังงานจะปรับลดลง แต่สามารถจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปีก่อน

S 115474450

บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ผ่านการลงทุนในบริษัท Manus Bio Inc.  สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชั้นนำ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในฐานะผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีชีวนวัตกรรมจากกระบวนการหมักขั้นสูง (advanced bio-fermentation)

โดยซื้อหุ้น Series B Preferred Stock มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท และได้ร่วมก่อตั้งบริษัทร่วมทุน “WIN lngredients” เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีแผนตั้งโรงงาน Synthetic Biology เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์แบบ Multi-Products แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนองความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ

  • กลุ่มธุรกิจผลิตทรัพยากรธรรมชาติ

ผลการดำเนินงานลดลงอย่างมาก เนื่องจากรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน จากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA ขณะที่ปีก่อนรับรู้ส่วนแบ่งกำไร

ในปี 2563 ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลงอย่างมาก จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ OKEA มีรายได้ลดลง และมีการตั้งด้อยค่าเพิ่มขึ้น จากการตั้งด้อยค่า Technical Goodwill, Ordinary Goodwill ของแหล่งผลิต Draugen และ Gjøa รวมถึง มีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของแหล่ง Yme จากการเลื่อนแผนการผลิต และการใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น

S 115474449

แต่มีการรับรู้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จากการแข็งค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ต้นทุนทางการเงินปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วน โอนไปเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนโครงการ และมีการรับรู้รายการภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ซึ่งช่วยลดผลขาดทุนสุทธิในปีนี้

OKEA ได้เข้าร่วมทุนในแหล่งปิโตรเลียม Calypso และ Aurora ใกล้กับแหล่ง Draugen และ Gjøa ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนา และการผลิตจากการ synergy ร่วมกันได้

อีกทั้งการเข้าร่วมลงทุนในแหล่งปิโตรเลียม Vette และได้รับใบอนุญาตในการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมใหม่จำนวน 6 ใบ  ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตการลงทุนของ OKEA

ในช่วงปลายปี บริษัท BCP Innovation Pte. Ltd ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Lithium Americas Corp. (LAC) ซึ่งมูลค่าที่ได้รับจากการลดสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ประมาณ 136 ล้านดอลลาร์ สำรองไว้สำหรับหาโอกาสขยายธุรกิจในอนาคต

S 115474443

ในส่วนของโครงการด้านนวัตกรรม บางจากฯ เป็นรายแรกในประเทศไทย ที่นำร่องเปิดตัวสตาร์ทอัพ “Winnonie” (วิน No หนี้) เพื่อช่วยลดภาระหนี้สิน ของรถจักรยานนต์รับจ้าง ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวจักรมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาทดลองให้วินรถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่รอบสำนักงานใหญ่ และโรงกลั่นน้ำมันบางจากเช่า ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบ swapping ที่ตู้สำหรับแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก

นอกจากนี้ บริษัท ยังไม่หยุดยั้งที่จะแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมภายใต้บทบาทผู้นำนวัตกรรมสีเขียว เพื่อความยั่งยืน มุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากธุรกิจสีเขียวเป็น ร้อยละ 40-50 ในปี 2567

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo