Economics

เอกชนยังหวั่นโควิด! ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ต่ำสุดรอบ 6 เดือน

ส.อ.ท. ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ระดับ 83.5 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน หวั่นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ระดับ 83.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.8 ในเดือนธันวาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน

โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกแรกและขยายขอบเขตในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามความรุนแรงของสถานการณ์ รวมทั้งมีความเข้มงวดในมาตรการรักษาระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้านอาหาร และสถานที่ต่าง ๆ

ขณะที่ภาครัฐและเอกชน ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (work from home) มากขึ้น ส่วนสถานศึกษา ยังปิดเรียนชั่วคราวโดยให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ในด้านการส่งออก ผู้ประกอบการ ยังประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ยังคงกดดันภาคการส่งออกของไทย

ส.อ.ท.

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าการระบาดระลอกแรก ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.9 เนื่องจากภาคการผลิตไม่ได้หยุดชะงัก และยังมีปัจจัยบวก จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชนผ่านโครงการต่าง ๆ ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบ ทางเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,441 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 73.8%, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 52.6, และราคาน้ำมัน 42.2% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 40.8% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 37.4% ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.1 จากระดับ 92.7 ในเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีวัคซีน COVID-19 ฉีดให้กับประชาชน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ตลอดจนการค้าและการลงทุนของไทยยังมีความไม่แน่นอน

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  1. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
  2. เร่งรัดการจัดซื้อและการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ของไทย ให้ได้ตามกำหนดเวลาและมีปริมาณเพียงพอเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ
  3. เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ของไทย
  4. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
  5. ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะมาตรการเสริมสภาพคล่อง จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันมีการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนเพียง 1.22 แสนล้านบาท จากวงเงิน 500,000 ล้านบาท รวมทั้งแก้ไขกฎหมายและเงื่อนไขพ.ร.ก.ซอฟต์โลนที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้น
  6. ขอให้ภาครัฐพิจารณาการนำโครงการช็อปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ย้อนหลัง 3 ปี จัดทำเป็น Dashboard เผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม Industry Data Space (iDS) ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสามารถเข้าไปใช้บริการข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.fti.or.th/ids

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo