Economics

กฎหมายรีดภาษีแพลตฟอร์มดัง ‘กูเกิ้ล – เฟซบุ๊ก – ไลน์’ มีผล 1 ก.ย. ดึงเงินเข้าไทย 5 พันล้าน

ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว กฎหมายรีด ภาษี แพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตมีผล 1 ก.ย. นี้ คาดดึงเม็ดเงินเข้าไทย 5 พันล้าน “กูเกิ้ล – เฟซบุ๊ก – ไลน์ – ยูทูป – ติ๊กต๊อก – เน็ตฟลิกซ์ ” โดนถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2567 ซึ่งจะบังคับให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการในต่างประเทศ กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) จากต่างประเทศและมีรายได้ในประเทศไทย

ภาษี เฟซบุ๊ก 2564

โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และกำหนดให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 7 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือในอีก 6 เดือนข้างหน้า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ กำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ รวมทั้งอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้แก่กรมสรรพากร ภายใต้ระบบ pay- only (ห้ามหักภาษีซื้อ) โดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและรายงานภาษีซื้อ

กฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ได้แก่ การให้บริการดาวน์โหลดหนัง/ภาพยนตร์, เพลง, เกม, สติกเกอร์, นายหน้า, สื่อโฆษณา เป็นต้น โดยแพลตฟอร์ม e-Service จากต่างประเทศที่เข้าข่ายต้องเสีย ภาษี ดังกล่าวในประเทศไทย เช่น แอปเปิ้ล (Apple), กูเกิ้ล (Google), เฟซบุ๊ก (Facebook), เน็ตฟลิกซ์ (Netflix), Line (ไลน์), Youtube (ยูทูป) และ Tiktok (ติ๊กต๊อก) เป็นต้น

การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะยกระดับแนวทางการบริหารจัดเก็บภาษีของไทยให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และจะช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประเทศ โดยคาดว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้อีกปีละ 5,000 ล้านบาท

shutterstock 1041288574

กว่า 60 ประเทศเก็บ “ภาษี” แล้ว

กฎหมายดังกล่าวจะสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ช่วยปิดช่องโหว่ของกฎหมาย เพราะมีการกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในประเทศ

สำหรับก่อนหน้านี้กรมสรรพากรได้หารือกับผู้ประกอบการต่างประเทศ และหน่วยงานจัดเก็บภาษีในหลายประเทศที่มีการใช้กฎหมายเช่นเดียวกันนี้ พบว่า ผู้ประกอบการต่างประเทศส่วนใหญ่มีความเข้าใจในหลักการของกฎหมายและได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของต่างประเทศ ที่มีหลักการเดียวกันกับร่างกฎหมายนี้อยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการต่างประเทศให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ทาง ภาษี เป็นอย่างดี

แต่ผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศ ที่ให้บริการในไทยไม่ต้องดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ครอบคลุมถึง ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มต่างก็เจอปัญหาดังกล่าว

ดังนั้น ประเทศมากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก เช่น อเมริกา อังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จึงได้ออกหรือแก้ไขกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ตามคำแนะนำขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการ โดยได้พัฒนาระบบ Simplified VAT System for e-Service (SVE) ซึ่งเป็นระบบการจดทะเบียน การยื่นแบบ และการชำระ ภาษี มูลค่าเพิ่มที่มีความง่าย ทันสมัย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใช้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo