Economics

เงินเฟ้อเดือน ม.ค. ลดลง 0.34% หลังราคาน้ำมัน-ค่าไฟปรับลดลง

“กระทรวงพาณิชย์” เผยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 99.79 ลดลง 0.34% หลังราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีนี้อยู่ที่ 1.2%

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 99.79 ลดลง 0.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือนธันวาคม 2563 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือนมกราคมนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลง จากมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพของภาครัฐที่ลดค่า Ft ลง 15.32 สตางค์/หน่วย

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้น 0.03%

144288911 2764093903904888 4715943933804881982 o

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2564 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้มีการปรับปีฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) และดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งปกติแล้วจะมีการปรับทุก 4-5 ปี โดยดัชนีราคาผู้บริโภคปรับเป็นปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศ และยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต ปรับเป็นปีฐาน 2558 ตามตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output) ล่าสุดที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ทั้งนี้ การปรับปีฐานของดัชนีทั้ง 2 ชุด มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึง การเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ

อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.34% (YoY) เป็นการหดตัวต่อเนื่องจาก 0.27% ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาพลังงานที่ยังต่ำกว่าปีก่อน (ลดลง 4.82%) การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ลงอีกเป็น -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน

ขณะที่ราคาข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียวที่ยังลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ตามปริมาณผลผลิตที่กลับเข้าสู่ปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเหมือนปีก่อน ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังทรงตัว สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวตามกลไกการตลาดของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.21% (YoY)

สำหรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องของโลก และการระบาดระลอกใหม่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การฟื้นตัวขอ’เศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อการใช้จ่ายและการผลิตในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้งยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้วัดสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการส่งออก อัตราการว่างงาน และรายได้เกษตรกร ประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพ และความสามารถในการบริหารจัดการของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐหลายหน่วย รวมทั้งแนวโน้มการรักษาด้วยวัคซีนเริ่มเห็นผลในหลายประเทศ ทำให้สถานการณ์ในช่วงต่อไปมีโอกาสปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและเงินเฟ้อให้กลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า

ทั้งนี้ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังคงได้รับอิทธิพลจากฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่ยังสูงกว่าปีนี้ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม โดยการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีแนวโน้มหดตัว กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 1.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 1.2) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

145176390 2764096380571307 8790870006504622976 o

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo