Economics

คาดราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ร่วง จากความล่าช้าวัคซีน-อินหร่านเพิ่มกำลังผลิต

หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประเมินราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52 – 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการระบาดของ COVID-19 ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน เร่งผลักดันให้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยงบประมาณ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านการลงมติจากวุฒิสภาโดยเร็วที่สุด

ราคาน้ำมัน

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0-0.25% และยังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 120,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ขณะที่ FOMC ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2564 นี้ สะท้อนมุมมองเชิงบวก

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกในปี 2564 จากปีก่อนอยู่ที่ +5.5% ปรับประมาณการเพิ่มขึ้น 0.3% จากครั้งก่อนในเดือน ต.ค. 2563 ด้านอุปทานน้ำมันที่ล่าสุดปริมาณการผลิต OPEC เดือน ม.ค. 2564 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ให้ติดตามการประชุมของที่คณะกรรมการร่วมระดับเทคนิคของ OPEC+ (Joint Ministerial Monitoring Committee: JMMC ) ที่จะประเมินสภาวะตลาดน้ำมัน และนำเสนอที่ประชุมระดับรัฐมนตรีวันที่  4 มี.ค. 2564 ซึ่งเลขาธิการ OPEC นาย Mohammad Barkindo ระบุว่าจะประเมินสภาวะตลาดรายเดือน เพื่อวางนโยบายการผลิตให้สอดคล้องภาวะตลาด

ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (ดอลลาร์/บาร์เรล)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ 

  • ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 สะสมทั่วโลกล่าสุดทะลุหลัก 100 ล้านราย และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะที่จีน ซึ่งในช่วงปลายปี 2563 การฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันของจีนช่วยหนุนการเติบโตของตลาดน้ำมัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ยุโรป หรือประเทศอื่นๆ มีแนวโน้มอ่อนแอ  นักลงทุนยังคงมุ่งความสนใจไปยังปัญหาความล่าช้าในการกระจายวัคซีนใน ยุโรป เนื่องจากการตรวจเช็ควัคซีนที่เข้มงวดมากขึ้น โดยบริษัท Astrazeneca ประกาศจะปรับลดการจัดส่งวัคซีนใน ยุโรป ในไตรมาส 1/2564 ลง 60% จากที่ตกลงกันไว้ เหลือเพียง 31 ล้านโดส เนื่องจากปัญหาทางการผลิตของโรงงานในเบลเยียม 
  •  นาย Amir Hossein Zamaninia รมช. กระทรวงน้ำมันอิหร่าน เปิดเผยว่าอิหร่านอยู่ระหว่างการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบให้เทียบเท่ากับช่วงก่อนถูกคว่ำบาตร (อิหร่านถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรในปี 2561) หรือแตะระดับ 3.9-4.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ภายใน 1-2 เดือน (เดือน ธ.ค. 2563 อิหร่านผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 22 ม.ค. 2564 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9.9 ล้านบาร์เรล (ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563) อยู่ที่ 476.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo