Economics

‘ดีอี’ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายระดมสมองทางออก พ.ร.บ.ไซเบอร์

กระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมดึงภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมคณะทำงาน 3 ฝ่าย ระดมสมองหาทางออกร่าง พ.ร.บ. ไซเบอร์ หวังสร้างการยอมรับจากทุกภาคส่วน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการจัดตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย เพื่อร่วมหารือ พิจารณาข้อขัดข้อง และนำเสนอทางออกร่วมกัน สำหรับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. ซึ่งได้มีการเปิดรับความคิดเห็น และพบว่าสังคมยังมีความกังวลในบางเรื่อง โดยคาดว่าคณะทำงานชุดนี้จะจัดตั้งได้ภายใน 2 สัปดาห์ คาดหมายว่าแนวทางนี้จะนำไปสู่เป้าหมายที่ทำให้ พ.ร.บ.ไซเบอร์ เป็นที่ยอมรับ

แนวทางดังกล่าวเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม คณะทำงาน 3 ฝ่าย จะประกอบด้วย ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจหรือตัวแทนฝ่ายเอกชนที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ซึ่งอาจครอบคลุมถึงนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยในส่วนของภาคธุรกิจ ที่เตรียมเชิญเข้ามาร่วมในคณะทำงานชุดนี้ ครอบคลุมทุกกลุ่มซึ่งมีความเสี่ยงว่าหากได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์ ก็จะส่งผลกระทบในภาพรวมถึงประชาชนด้วย ได้แก่ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กลุ่มสถาบันการเงิน ภาคขนส่ง สายการบิน พลังงาน และสาธารณสุข เป็นต้น

“พูดถึง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ความกังวลที่ผ่านมาที่เราเห็นตามสื่อ ทางกระทรวงฯ รับฟัง และเมื่อสังคมกำลังกังวลอยู่บางเรื่อง เราก็จะรีบเคลียร์ก่อน ยังไม่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในระดับต่อไป โดยกระบวนการขั้นตอนที่เราจะเคลียร์วันนี้ คือ นำความคิดเห็นที่เปิดรับทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็น และทางเว็บไซต์ ซึ่งประมวลเกือบเสร็จแล้ว และจัดหมวดหมู่ เพื่อนำมาใช้ประกอบการทบทวนร่างกฎหมายที่ทำมา” ดร.พิเชฐกล่าว

หลังจากผ่านกระบวนการนำเสนอทางออกร่วมกันของคณะทำงาน 3 ฝ่ายข้างต้น ก็ยังมีขั้นตอนต่อไป ได้แก่ นำร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งเวียนขอรับทราบความเห็นของหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจึงนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาอีกหลายเดือน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight