Economics

รู้ยัง? ‘เราชนะ’ เงินเยียวยา 7,000 บาท ใช้จ่ายอะไรได้บ้าง อ่านชัด ๆ ที่นี่เลย

เราชนะ มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “โควิด” 7,000 บาท เงินเข้าเมื่อไหร่ ใช้จ่ายอะไรได้บ้าง กดเป็นเงินสดได้หรือไม่ อ่านชัด ๆ ที่นี่เลย

จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ได้เห็นชอบโครงการ “เราชนะ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ “โควิด” ซึ่งจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 นั้น

ล่าสุด น.ส. กุลยา ตันติเตมิท โฆษก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข และไม่มีฐานข้อมูลอยู่ในระบบ คือ ไม่ใช่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน รวมไปถึงผู้ที่ลงทะเบียน คนละครึ่ง สามารถเข้าร่วมโครงการเราชนะ ผ่านการลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เท่านั้น เริ่มวันที่ 29 มกราคม 2564 – 22 กุมภาพันธ์ 2564

แจกเงิน21164

เมื่อลงทะเบียนและได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการแล้ว ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ยืนยันตัวตน จากนั้นวงเงินจะเข้าในหัวข้อของ “เราชนะ” โดยวงเงินช่วยเหลือจะทยอยจ่ายเป็นรายสัปดาห์

ทั้งนี้ เงินจะเริ่มเข้าในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 งวดแรกจะได้ 2,000 บาท จากนั้นทุกวันพฤหัสบดีเงินจะทยอยเข้า 1,000 บาทไปเรื่อยๆ จนครบ 7,000 บาท ในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยวงเงินที่ได้รับนั้น สามารถเก็บสะสมทยอยใช้จ่ายไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

สำหรับการใช้จ่ายเงินในโครงการเราชนะ จะไม่ต้องเติมเงินเข้าครึ่งหนึ่งเหมือนกับโครงการ “คนละครึ่ง” สามารถใช้วงเงินเราชนะใช้จ่ายได้เลย

ทั้งนี้ วงเงินเราชนะ นอกจากจะใช้จ่ายซื้ออาหาร สินค้าต่าง ๆ เหมือนกับโครงการคนละครึ่งแล้ว สิ่งที่เพิ่มมาคือสามารถใช้จ่ายค่าบริการขนส่งที่เกี่ยวกับการเดินทางได้ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ รถตู้ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” แต่จะไม่รวมการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์จะพิจารณาจากความสามารถด้านรายได้ การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ได้รับไปแล้วเป็นสำคัญ ซึ่งความช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น โดยผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ
  2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ
  3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ
  5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
  6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
  7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

เราชนะ

ทั้งนี้ ภาครัฐจะดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในรูปแบบของวงเงินช่วยเหลือผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

1. กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือตลอดระยะโครงการ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น

  • กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท
  • กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

2. กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ (กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”) ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

3. กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูล กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูล) หลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก่อน จึงจะได้รับวงเงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูล สามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo