Economics

ขอนแก่นเฮ! คจร.เห็นชอบท้องถิ่นสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง

“คจร.” เห็นชอบให้ “ขอนแก่น” ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง สำราญ-ท่าพระ วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท พร้อมไฟเขียว รฟม. สร้าง “แทรมพิษณุโลก” วงเงิน 800 ล้านบาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะเลขานุการการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยหลังการประชุม คจร. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (17 ต.ค.) ว่า ที่ประชุม คจร. มีมติเห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สนข. ได้ศึกษาไว้ และอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่นดังกล่าว เฉพาะในเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ที่ สนข. ออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว ภายใต้กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง จ.ขอนแก่น เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีจำนวนทั้งหมด 16 สถานี เป็นโครงสร้างยกระดับ 6 สถานี และระดับดิน 10 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้านบาท

นอกจากนี้ คจร. มีมติเห็นชอบโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ตามที่ สนข. ได้ศึกษาแล้วเสร็จ เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับไปดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

– แผนระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 80.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 3,206.57 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2563-2564 และเปิดให้บริการในปี 2565

– แผนระยะที่ 2 จำนวน 2 เส้นทาง (รวมทั้งส่วนต่อขยายเส้นทางระยะที่ 1) รวม 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 30.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 911.42 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2572-2573 และเปิดให้บริการในปี 2574

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเสนอให้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง เป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 15 สถานีระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 762.29 ล้านบาท แนวเส้นทางจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตน มหาธาตุ-ศาลากลางจังหวัด-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว)-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่

 

ภาพจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Avatar photo