Economics

คลังเตรียมชง ‘ครม.’ เยียวยาหนี้พื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัดสีแดง!!

“กระทรวงการคลัง” เตรียมเสนอ ครม. ดูแลหนี้สินพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัดสีแดงสัปดาห์หน้า เน้นดูแล 5 จังหวัด “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 มกราคม 2564 กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการทางการเงิน ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เยียวยาประชาชน โดยจะเป็นมาตรการของ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็จะเสนอมาตรการลดภาระด้านรายจ่ายด้วย เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ในพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด และจะเน้นเข้าไปดูแล 5 จังหวัด “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด

อาคม81631

นายอาคม กล่าวอีกว่า มาตรการทางการเงินที่จะเสนอครม. ในวันอังคารหน้า จะมีทั้งรูปแบบเรื่องสินเชื่อ และดูแลหนี้ให้กับประชาชน รวมทั้งธุรกิจภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่น การพักชำระเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน เป็นต้น ซึ่งมาตรการจะเป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนมาตรการที่ระยะเวลาถึงเดือนมิถุนายน 2564 ก็จะมีการพิจารณาให้อีกครั้งหนึ่ง แต่จะเร่งดูส่วนนี้ก่อน

“รูปแบบการเยียวยาครั้งนี้จะดูให้ละเอียด เนื่องจากลักษณะจะเป็นการดูแลเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งต้องพิจารณาประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันด้วย ว่าระยะเวลาจะยืดออกไปนานเท่าไหร่ แม้ผลกระทบจะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังสามารถเดินหน้าได้อยู่ ยังไม่ได้มีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เพียงแต่ว่ามีการจำกัดเวลา ในเรื่องการเปิด-ปิดสถานที่ต่าง ๆ ประชาชนยังสามารถเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยได้” นายอาคม กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังตอบไม่ได้ว่า มาตรการเยียวยาประชาชนกลุ่มเสี่ยง จะออกมาภายในเดือน มกราคมนี้เลยหรือไม่ แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด จะตามมาหลังจากที่มาตรการทางการเงิน ทั้งสินเชื่อ พักชำระหนี้ และมาตรการลดรายจ่ายออกมาแล้ว

“มาตรการเยียวยาต้องดูรายละเอียด และต้องหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก่อนเสนอเข้าครม. ส่วนจะเยียวยาเฉพาะ 28 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงหรือไม่นั้น ยังไม่สรุป ขอดูอีกครั้งก่อน” นายอาคม กล่าว

ส่วนกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต้องการให้รัฐบาลขยายระยะเวลาโครงการคนละครึ่งอีก 3 เดือน และเพิ่มวงเงินในโครงการเป็น 5,000 บาท จากเดิม 3,500 บาทนั้น นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้​ ยังไม่ได้คิดขยายระยะเวลาหรือเพิ่มวงเงิน และขอประเมินผลการดำเนินการคนละครึ่งเฟส 2 ในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ก่อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo