Economics

หวั่นโควิดรอบใหม่! ‘ซีไอเอ็มบีไทย’ หั่นจีดีพีปีหน้าเหลือโต 2.6%

“สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย” ปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2564 เหลือขยายตัว 2.6% จากเดิมที่ 4.1% หวั่นสถานการณ์โควิดระบาดรอบใหม่ฉุด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ลงเล็กน้อยจากติดลบ 6.6% เป็นติดลบ 6.7% ส่วนปี 2564 ประเมินว่าจะขยายตัวลดลงเหลือ 2.6% จากเดิมคาดขยายตัว 4.1% โดยเพิ่มสมมติฐานสำคัญสามประการ ได้แก่

  • การระบาดของโควิด-19 ลากยาวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก และการรักษาระยะห่าง ที่ยังมีความจำเป็นตลอดทั้งปี
  • ปัญหาทางการเมือง ที่อาจกลับมากระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน และผู้บริโภคในปีหน้า หากรัฐสภาและผู้ประท้วงไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว
  • ความล่าช้าในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ทั้งจากการระบาดในต่างประเทศ และการที่คนในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีน

money3012

ทั้งนี้ การกลับมาระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศ ที่มีโอกาสลดลงต่อเนื่อง ไปถึงกลางปีหน้า ส่งผลกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง และธุรกิจอื่นที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีช่องทางการขายออนไลน์ แม้เศรษฐกิจไทยจะไม่หดตัวรุนแรง เหมือนที่ได้เผชิญการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา แต่จากการระบาด ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อีกทั้งผู้ประกอบการที่ขายสินค้า และอาหารได้ลดลง ในช่วงที่คนจำนวนมากเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน ทำให้ขาดรายได้ และอาจกระทบการจ้างงาน แม้การว่างงานอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ชั่วโมงการทำงานอาจลดลง ส่งผลให้รายได้นอกภาคเกษตรยังคงอ่อนแอในปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนจึงมีโอกาสอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะยังคงซึมยาวตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคในประเทศ มีความเสี่ยงหดตัวมากกว่าที่คาด ในช่วงไตรมาสแรก และอาจฟื้นตัวช้า แต่เศรษฐกิจไทย น่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าในปีหน้า โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลในต่างประเทศ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการว่างงาน หรือรายได้ที่ลดลงจากโควิด-19

ประกอบกับสภาพคล่องในตลาดการเงิน ที่มีสูงจากการออกมาตรการคิวอี และดอกเบี้ยต่ำ ได้ส่งผลให้การบริโภค และการลงทุนในต่างประเทศฟื้นตัวได้เร็ว แม้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงก็ตาม ทั้งนี้ อุปสงค์ต่างประเทศที่ฟื้นตัวเร็ว โดยเฉพาะในสหรัฐและจีน จะช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ชิ้นส่วนได้ในปีหน้า ขณะที่สินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าเกษตร น่าจะราคาสูงขึ้นกว่าปีนี้ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะช่วยให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนดีขึ้นด้วย

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนยังคงมุมมองการแข็งค่าของเงินบาทไว้ที่ระดับ 28.6 บาทต่อดอลลาร์ในปลายปีหน้าจากปัญหาเงินร้อนที่จะทะลักเข้าตลาดทุนไทย ประกอบกับ การที่ประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้าในระดับที่สูง ซึ่งสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าลากยาว

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ เรามองว่า แม้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงฟื้นตัวช้าในปี 2564 แต่หลังจากคนไทยได้รับวัคซีนมากขึ้นและมีการควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในต่างประเทศ การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาและน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเร่งตัวได้ดีขึ้นในปี 2565

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo