Economics

มัดรวมมาให้! เปิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแห่งปี ต่อลมหายใจสู้ ‘โควิด’

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แห่งปี 2563 ที่รัฐบาลจัดหนัก หวังเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติไวรัสร้าย “โควิด”

เมื่อ ‘โควิด’ ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง! ทางรอดเดียวที่จะพยุงสัญญาณชีพของเศรษฐกิจไทยในนาทีนี้คือ การอัดทั้งมาตรการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในปี 2563 เราจึงเห็นรัฐบาลภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี อัดมาตรการต่อเนื่องหวังต่อลมหายใจให้ทุกคนในประเทศมีแรงสู้ “โควิด” โดยในช่วงแรกของวิกฤติที่ต้องมีการ “ล็อกดาวน์” ประเทศการอัดเงินเยียวยาในกระเป๋าถือเป็นมาตรการสำคัญ เราจึงได้เห็นมาตรการทั้ง

โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” โดย “กระทรวงคลัง” เปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ผ่านโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” โดยได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งโครงการนี้ เกิดเป็นกระแสดราม่าต่อเนื่อง ทั้งระบบการลงทะเบียนล่ม เดือดร้อนจริงแต่กลับลงทะเบียนไม่ผ่าน เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กระทรวงการคลังระบุ จนต้องเกิดการชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงการคลัง และเป็นที่มาของการลงทะเบียนรอบเก็บตก!

ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิลงทะเบียน ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 โดยผู้ที่ขอรับความช่วยเหลือต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งจะมีผู้ได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการนี้ รวม 16 ล้านคน

เราไม่ทิ้งกัน3012

โครงการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการของภาครัฐในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะได้รับเงินช่วยเหลือ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค. – ก.ค. 63) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ

โครงการเยียวยาเกษตรกร โดยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก “โควิด” จะได้รับเงินช่วยเหลือ 15,000 บาท แบ่งจ่ายเป็นเงิน 5,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 3 เดือน โดยเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ ต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด- และผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการ และมาตรการต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาจากผลกระทบแล้ว เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวอย่างเท่าเทียม

โครงการเยียวยากลุ่มผู้เปราะบาง มาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบางนี้ จะให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 โดยให้กับคน 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กยากจน, ผู้สูงอายุ และผู้พิการ รวม 13 ล้านคน

นอกจากนี้ ผู้พิการยังจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และให้กู้เพื่อประกอบอาชีพเป็นกรณีพิเศษ ไม่เกินรายละ 10,000 บาท ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนชำระ 5 ปี ปลอดหนี้ปีแรก

ประกันสังคม ๒๐๑๒๓๐

มาตรการลดภาระลูกจ้างระบบประกันสังคม โดยจะลดเงินนำส่งเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 เหลือ 1% จากเดิม 5% โดยผู้ว่างงานทั้งเลิกจ้างและลาออก กองทุนประกันสังคมจ่าย 62% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือน รวมถึงกลุ่มต้องกักตัวดูอาการ 14 วัน และกลุ่มที่ภาครัฐสั่งปิดกิจการจากประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

มาตรการลดภาระค่าไฟฟ้า อาทิ คืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า (ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า) ให้บ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก แบ่งเป็น ผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขอใช้สิทธิคืนเงินตามขนาดของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า พร้อมลดค่าไฟฟ้ารอบการใช้ไฟฟ้าเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2563 เป็นต้น

มาตรการลดภาระค่าน้ำประปา

การประปานครหลวง (กปน.) มีทั้งการลดค่าน้ำประปาให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทรอบเดือน เมษายน – มิถุนายน 2563 (ใบแจ้งค่าน้ำประปาเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 63) , คืนเงินประกันการใช้น้ำ, ยกเว้นค่าธรรมเนียมชำระค่าน้ำประปาผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, 7-11, เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี และ CenPay เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 และยกเว้นการตัดน้ำประปาทั้งชั่วคราวและถาวร 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 30 กันยายน 2563 เป็นต้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หลังเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการ “ล็อกดาวน์” ประชาชนไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้ ยอดนักท่องเที่ยวที่ดิ่งเหว ทำให้รัฐบาลต้องเน้นการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น จึงผุดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ขึ้นมา เพื่อหวังกระตุ้นการเดินทางของคนในประเทศหลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

แม้ในช่วงแรกของโครงการดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากนัก จนต้องมีการยกเครื่องโครงการใหม่ พร้อมเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติมอีก 1 ล้านสิทธิเมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีสิทธิที่พักคงเหลืออยู่ที่ 715,342 สิทธิ และจำนวนสิทธิตั๋วเครื่องบินเหลืออยู่ที่ 1,485,438 สิทธิ

โครงการช้อปดีมีคืน หรือมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โครงการคนละครึ่ง ที่ปังมากจนต้องผุดเฟส 2 โดยมาตรการนี้มีแนวคิดหวังกระกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานล่าง หลังจากหลาย ๆ โครงการก่อนหน้านี้ถูกโจมตีว่าเอื้อทุนขนาดใหญ่ ครม. จึงมีการตั้งโครงการ “คนละครึ่ง” ขึ้นมา โดยแจกเงิน 3,000 บาท ให้ประชาชนทั่วไป จำนวน 10 ล้านคน แต่ภาครัฐจะร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน

โครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้ใจพ่อค้าแม่ค้าอย่างมาก โดยล่าสุดได้เปิดลงทะเบียนเพิ่มอีก 5 ล้านสิทธิ ขยายวงเงินเพิ่มเป็น 3,500 บาท และคาดว่าในปีหน้าจะมีการเปิดรอบเก็บตกอีก 1 ล้านสิทธิด้วย

จากนี้คงต้องติดตามดูว่า รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเยียวยาผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่ระบาดระลอกใหม่หรือไม่ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า หากประชาชนยังไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลตัวเองแล้ว อาจจะต้องมีการ “ล็อกดาวน์” ประเทศอีกครั้งแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo