Economics

‘ลดการแข่งขัน 3 นิคมฯ’ คีย์เวิร์ดกกพ.ล้มดีลใหญ่ ‘จีพีเอสซี’ ซื้อหุ้น ‘โกลว์’ 1.4 แสนล้าน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชุดใหม่ที่มี เสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธาน ประเดิมงานแรกด้วยมติไม่อนุมัติคำขอเพื่อรวมกิจการ โดยการเข้าซื้อหุ้นส่วนของ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ในบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือโกลว์ ในการประชุมกกพ.เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา

ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว กกพ.ได้เชิญ จีพีเอสซี และโกลว์ รวมถึงกลุ่มลูกค้า ที่ซื้อไฟฟ้าจากทั้งสองบริษัท เข้าพบหลายรายด้วยกัน รวมถึงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามาให้ข้อมูล

19388352 482430488760017 2901378773056592117 o
อรรชกา สีบุญเรือง

ยึดมาตรา 60 และระเบียบฟันธง

 อรรชกา สีบุญเรือง กรรมการกกพ. อธิบายว่าแนวทางสำคัญในการตัดสินใจของกกพ.ชุดนี้ มาจากคำสำคัญ นั่นคือการพิจารณาว่าควบรวมแล้ว “ลดการแข่งขัน” หรือไม่ โดยเรายึดข้อกฎหมายมาตรา ุ60 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา มาตรานี้ระบุว่า “ให้คณะกรรมการมีอํานาจออกระเบียบกําหนดหลักเกณฑ์ เพื่อมิให้มีการกระทําการใด ๆ อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน”

ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ว่าด้วย “การกําหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการอันก่อให้ เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน พ.ศ. 2552″

ข้อ 8 ที่กำหนดสาระสำคัญดังนี้  ในการพิจารณาคําขออนุญาต หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การรวมกิจการของผู้ยื่นคําขออนุญาตไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ให้คณะกรรมการสั่งอนุญาตเป็นหนังสือแก่ผู้ยื่นคําขออนุญาต แต่ถ้าคณะกรรมการมีคําสั่งไม่อนุญาต ต้องแจ้งคําสั่งนั้นเป็นหนังสือพร้อมระบุเหตุผลไปยังผู้ยื่นคําขออนุญาตโดยไม่ชักช้า

แต่ถ้าคณะกรรมการมีคําสั่งไม่อนุญาตตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจกําหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับ การประกอบกิจการพลังงานเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจํากัด การแข่งขันให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติ และเมื่อเห็นว่านโยบายของรัฐ ภาวะเศรษฐกิจ ข้อเท็จจริง หรือพฤติกรรมที่คณะกรรมการอาศัยเป็นหลักในการพิจารณาอนุญาตเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการ จะแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกระยะเวลาหรือเงื่อนไขดังกล่าวในเวลาใดก็ได้

 เราพิจารณาจากข้อกฎหมาย ไม่ใช่ความเห็นหรือดุลพินิจ พบว่าเมื่อควบรวมแล้ว มีบางพื้นที่เข้าข่ายลดการแข่งขัน 

3 ใน 6 นิคมฯเข้าข่ายขายไฟฟ้าผูกขาด

บางพื้นที่ที่เข้าข่าย“ลดการแข่งขัน” ที่นางอรรชการะบุนั้น  จากข้อมูลพบว่า มี 6 นิคมอุตสาหกรรมที่จีพีเอสซี แลโกลว์ จำหน่ายไฟฟ้าป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรมภายใน และ มี 3 นิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมฯเหมราช นิคมฯผาแดง และอาร์ไอแอล จังหวัดระยอง ที่เข้าข่าย“ลดการแข่งขัน” ตามบทกฎหมาย เพราะจะต้องซื้อไฟฟ้าจากจีพีเอสซีรายเดียวจากเดิมมีโกลว์เป็นอีกทางเลือก

ส่วนทางเลือกการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ในพื้นที่ มีการรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการ ระบุว่าไม่ถือเป็นทางเลือก เพราะระบบไฟฟ้าของ กฟภ.ไม่สามารถตอบสนองต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนได้ เนื่องจากไม่มีเสถียรภาพมากพอ  โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องการไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูง ประกอบกับ กฟภ.จำหน่ายไฟฟ้าในราคาเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff) ไม่สามารถให้อัตราส่วนลดกับผู้รับบริการได้เหมือนโรงไฟฟ้าเอกชนระบบไฟฟ้าของ กฟภ.จึงไม่ใช่ทางเลือก

เมื่อพิจาณา 2 ประเด็น คือข้อกฎหมาย และเหตุผลความจำเป็น รวมถึงประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว เห็นว่าการควบรวมครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากกว่าสาธารณะ จึงพิจารณาว่าการควบรวมส่งให้เกิดการ “ลดการแข่งขัน” ตามกฎหมาย และมีมติห้ามจีพีเอสซีซื้อหุ้นโกลว์ดังกล่าว

โดยตามระเบียบนี้ ข้อ 11 ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่พอใจคําสั่งของกกพ.มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่ง ซึ่งประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ คือ นายสุธรรม อยู่ในธรรม และมีกรรมการนักกฎหมายจากภายนอกเข้ามาเป็นองค์ประกอบกรรมการ

หากผู้ร้องยังไม่พอใจผลการอุทธรณ์สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในลำดับถัดไปเช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องที่เข้ามาให้กกพ.ตัดสิน บางเรื่องเมื่อเข้าสู่คณะกรรมการอุทธรณ์ ก็มีการกลับคำตัดสินเมื่อมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาให้พิจารณา  บางเรื่องยืนตามคำตัดสินของกกพ. และมีการส่งฟ้องศาลปกครองเหมือนกรณีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ต่อกกพ. ชุดก่อน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560 แต่กกพ.มีมติไม่ออกใบอนุญาต

จากนั้นบริษัทใช้สิทธิ์อุทธรณ์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ยืนยันตามมติของกกพ.จึงยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่าบริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการในการจะได้รับใบอนุญาตดังกล่าว และเห็นว่ากกพ.ไม่อาจอ้างเหตุใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อปฎิเสธการออกใบอนุญาตให้แก่บริษัทได้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอจากแหล่งข่าวท่านหนึ่งถึงทางออกของเรื่องนี้  โดยระบุว่า“การลดการแข่งขัน” ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเพียงการคาดการณ์ว่า การที่จีพีเอสซี ซื้อหุ้นโกลว์ครั้งนี้จะทำให้ “ลดการแข่งขัน” ความจริงแล้ว สามารถให้จีพีเอสซีดำเนินการได้บนเงื่อนไขบางประการ ตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ว่าด้วย “การกําหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการอันก่อให้ เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน พ.ศ. 2552″ เช่น ให้จีพีเอสซีทำข้อตกลงเป็นหนังสือกับผู้ซื้อไฟฟ้าของโกลว์ ว่าจะไม่ทำให้การคุณภาพการบริการลดต่ำลง โดยมีกกพ.เป็นคนกลาง ที่ผ่านมาจีพีเอสซีได้แต่เจรจาเป็นรายบริษัท

S 30933024 ชวลิต จีพีเอสซี
ชวลิต ทิพพาวนิช

“จีพีเอสซี”เดินหน้าขยายงานต่อ

ทางด้านจีพีเอสซีจะทำอย่างไรต่อไปกับผลการตัดสินดังกล่าว  ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีพีเอสซี ระบุว่า ความจริงแล้ว เรามีการคิดในประเด็นนี้กันมาแล้ว แต่คิดว่าทำตามกฎหมายทุกประการ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ก็ขึ้นกับการตัดสินของกกพ. เมื่อผลการตัดสินออกมาดังกล่าว เขา เน้นว่า”กกพ.ห้ามจีพีเอสซีซื้อหุ้นโกลว์”

การหาทางออกจะเป็นอย่างไร นายชวลิต ระบุว่า จะต้องหารือกลุ่ม Engie Global Development B.V. ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป จะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะเดียวกันก็จะหารือในคณะกรรมการบริษัทในวันที 18 ตุลาคมนี้ โดยเขาไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร  แต่ยืนยันว่ยังไม่มีอะไรเสียหาย เพราะยังไม่มีการจ่ายค่าหุ้นกัน เพราะการซื้อครั้งนี้อยุู่บนเงื่อนไขเรื่องกกพ.ต้องอนุมัติด้วย

“จีพีเอสซีก็ต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ว่าซื้อโกล์วไม่ได้แล้วทุกอย่างจะหยุด หรือจบลง เราก็มีแผนที่จะเติบโต โดยการขยายงานต่อเนื่อง”

ก่อนหน้านี้ จีพีเอสซีแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุแผนซื้อกิจการโกวล์ด้วยมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อหุ้นจากกลุ่ม Engie Global Development B.V. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโกลว์สัดส่วน 69.11% วงเงินรวม 9.59 หมื่นล้านบาท

Avatar photo