Economics

‘แบงก์ชาติ’ แจงอีก! ‘ธนบัตรที่ระลึก’ มีกลไกป้องกันปลอมแปลง ขอประชาชนมั่นใจ

“แบงก์ชาติ” แจงโซเชียลฯ อีก! ยืนยัน “ธนบัตรที่ระลึก” มีกลไกป้องกันการปลอมแปลงเหมือนแบงก์ทั่วไป ขอให้ประชาชนมั่นใจความปลอดภัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ ธนบัตรที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยังเป็นการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญตลอดจนพระราชพิธีที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย

ธนบัตรที่ระลึก

ธนบัตรที่ระลึกฯ ได้นำออกใช้เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 เป็นวันแรก เนื่องในโอกาสวันครบ 1 ปี ของการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ธนบัตรที่ระลึกฯ ชุดนี้มี 2 ชนิดราคา คือ 1000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 10 ล้านฉบับ และ 100บาท จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านฉบับ

ประชาชนสามารถแลกธนบัตรที่ระลึกฯ นี้ ได้ที่ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และยังสามารถกดธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 100 บาท ได้ที่ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ด้วย

ธปท. แบงก์ชาติ

แบงก์ชาติชี้แจง

อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบของธนบัตรดังกล่าวในหลายประเด็น เช่น ธนบัตรที่ระลึกฯ ใบละ 100 บาท มีลักษณะคล้ายกับธนบัตรใบละ 1000 บาทที่ใช้กันตามปกติ จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าทอนเงินผิด รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ธนบัตรที่ระลึกฯ ไม่มีกลไกป้องกันการปลอมแปลง

ล่าสุดวันนี้ (14 ธ.ค. 63) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ออกมาชี้แจงว่า ธนบัตรที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีลักษณะการต่อต้านการปลอมแปลงตามมาตรฐานขั้นสูงในระดับเดียวกับธนบัตรหมุนเวียนตามปกติ เช่นเดียวกันกับธนบัตรที่ระลึกในอดีต ประชาชนจึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยต่อการถูกปลอมแปลงและสามารถนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนได้ตามปกติเช่นเดียวกับธนบัตรทุกรุ่น

โดยประชาชนสามารถตรวจสอบธนบัตรด้วย 3 วิธีง่าย ๆ คือ สัมผัส ยกส่อง พลิกเอียง จุดสังเกตที่สำคัญ เช่น ความนูนของการพิมพ์บอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรและคำว่ารัฐบาลไทย ลายน้ำ แถบสีที่มีภาพเคลื่อนไหว และ หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสีได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกันของ ธนบัตรที่ระลึกฯ ชนิดราคา 100 กับ ธนบัตรหมุนเวียน ชนิดราคา 1,000 บาท ปัจจุบันนั้น ขอแจ้งว่า มีความแตกต่างที่ประชาชนสามารถสังเกตได้ชัดเจน เช่น ขนาดธนบัตรหมุนเวียน 1,000 บาทมีขนาดความยาวกว่า 1.2 เซนติเมตร นอกจากนี้ ธนบัตรทั้ง 2 แบบ มีตัวเลขบอกชนิดราคาที่มุมธนบัตรด้านล่างอย่างชัดเจน

ธนบัตรที่ระลึก 100 บาท

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ออกมาชี้แจง 5 จุดสังเกตของ ธนบัตรที่ระลึก ชนิดราคา 100 บาท เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนใจการใช้จ่ายผ่านธนบัตรดังกล่าว ดังนี้

1.ตัวเลขไทยแจ้งชนิดราคา ๑๐๐ บาท

2.ธนบัตรมีสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีแห่งวันพระบรมราชสมภพ

3.เปลี่ยนภาพพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ตอนกลางของธนบัตร เป็นภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

4.ตัวเลขแจ้งชนิดราคา 100 บาทในดอกไม้

5.ภาพพื้นหลัง เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเป็นภาพประธาน

K10 B100 F 1 down

รายละเอียด “ธนบัตรที่ระลึกฯ” ราคา 100 บาท 

​ลักษณะธนบัตรด้านหน้า มีลักษณะโดยรวมเช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา 100 บาท แบบปัจจุบัน โดยได้ปรับโทนสีให้เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีแห่งวันพระบรมราชสมภพ เปลี่ยนภาพพระตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ตอนกลางของธนบัตร เป็นภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เปลี่ยนลายดอกห้ากลีบที่เบื้องขวาของพระบรมสาทิสลักษณ์ เป็นลายดอกพิกุล

​ลักษณะธนบัตรด้านหลัง เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเป็นภาพประธาน เชิญพระปฐมบรมราชโองการไว้ที่เบื้องขวาของธนบัตร

ภาพประกอบเป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ภาพการเสด็จออกสีหบัญชร และภาพพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo