Economics

มาเร็วกว่ากำหนด! ธ.ก.ส. จ่ายเงิน ‘ประกันราคายางพารา’ 9 แสนรายวันนี้

มาเร็วกว่ากำหนด! วันนี้ (10 ธ.ค.) ธ.ก.ส. จ่ายเงิน “ประกันราคายางพารา” งวดแรกให้เกษตรกรแล้ว 9 แสนราย มูลค่ารวมกว่าพันล้านบาท

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (10 ธ.ค. 63) ธ.ก.ส. เริ่มจ่ายเงินส่วนต่าง โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 หรือ ประกันราคายางพารา เฟส 2 ให้เกษตรกรแล้วกว่า 9 แสนราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

ธ.ก.ส. ประกันราคายางพารา

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ประกันรายได้ คือ เกษตรกรชาวสวนยางต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่การปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยเป็นสวนยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน

ทั้งนี้ การยางฯ จะทำการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ พร้อมทั้งประมวลผล ส่งมายัง ธ.ก.ส. เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่ง เงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน = (ราคายางที่ประกันรายได้-ราคาอ้างอิงการขาย) X ปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง

โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ หากเจ้าของสวนกรีดเองจะได้รับส่วนต่าง ประกันรายได้ ทั้งจำนวน กรณีจ้างกรีดยาง เจ้าของสวนยางจะได้ 60% และคนกรีดจะได้ 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีการประกาศราคากลางอ้างอิงทุกเดือน และจะมีการจ่ายเงิน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 – กันยายน 2564

เกษตรกรสามารถตรวจสอบการโอนเงินได้ 3 ช่องทางคือ

  • แอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ธนาคาร ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
  • เกษตรกรลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่าน LINE Official BAAC Family เมื่อเงินเข้าบัญชีของท่านแล้ว

ยางพารา

ครม. แก้มติจ่าย “ประกันรายได้” ทั้งบัตรเขียว-บัตรชมพู

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมติคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2

เป้าหมายคือ ให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการ ประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางตกต่ำ อันเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างความมั่นคงในอาชีพ

เป้าหมายเป็นเกษตรกร 1.83 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 18.28 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณ 9,717 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564

ต่อมาที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 มีมติเห็นชอบปรับปรุงโครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้สามารถจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งที่ถือบัตรสีเขียว (เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์) และบัตรสีชมพู (เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์) จนนำมาสู่การจ่ายเงินงวดแรกในวันนี้

สำหรับโครงการประกัน รายได้เกษตรกร ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ได้กำหนดการประกันราคาตามการผลิตแต่ละประเภท ดังนี้

  • ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม
  • น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม
  • ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนต่างโครงการ ประกันรายได้ เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 จะใช้กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 23 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้

  • ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ย อยู่ที่ 62.62 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ได้รับชดเชยส่วนต่าง
  • ราคาน้ำยางสด อยู่ที่ 52.86 บาทต่อกิโลกรัม ชดเชย 4.14 บาทต่อกิโลกรัม
  • ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาทต่อกิโลกรัม ชดเชย 3.19 บาทต่อกิโลกรัม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo