Economics

ฟันโทษ! ผลิต-จำหน่าย ‘ภาชนะเมลามีน’ ไม่มี มอก. ควบคุมมาตรฐานสารก่อมะเร็ง

ดีเดย์พรุ่งนี้ (11 ธ.ค.)! ผู้ประกอบการ ผลิต-นำเข้า-จำหน่าย “ภาชนะเมลามีน” ไม่มี มอก. เจอโทษปรับจำคุก ควบคุมมาตรฐานปริมาณสารก่อมะเร็ง

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค. 63) เป็นต้นไป กฎหมายควบคุม ภาชนะเมลามีน จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าทุกราย จะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนผลิตหรือนำเข้า รวมถึงต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 2921-2562 ที่สินค้าทุกหน่วยด้วย

ภาชนะเมลามีน

กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อควบคุมปริมาณสารโลหะหนักและสารฟอร์แมลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ละลายปนเปื้อนออกมากับอาหาร ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อร่างกาย เนื่องจากสินค้าประเภทภาชนะและเครื่องใช้ เมลามีน นั้น ผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตาเปล่าว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ต้องส่งทดสอบในห้องแล็บเท่านั้น

“เบื้องต้นให้ลองสังเกตว่าหากนำภาชนะที่มีอยู่ไปใส่อาหารร้อนหรืออาหารที่มีความเป็นกรด แล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ภาชนะเสียความมันเงา ผิวสาก บิดเบี้ยว บวม หรือขรุขระ หรือสีภาชนะซีดลงกว่าเดิม ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นภาชนะที่ไม่ได้มาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะมีสารปนเปื้อนอันตรายปะปนลงสู่อาหารได้ แนะนำให้เลิกใช้ภาชนะดังกล่าว” นายวันชัยกล่าว

โดยหลังจากนี้ ประชาชนที่เลือกซื้อภาชนะเมลามีนจะสามารถสังเกตเครื่องหมาย มอก. ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า และหลังจากวันที่ 21 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ประชานยังสามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลสินค้าที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน และข้อมูลผู้รับใบอนุญาตได้อีกด้วย เพราะกฎหมายจะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตทุกรายจะต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตในรูปแบบ QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าด้วย

shutterstock 1065930434

ทั้งนี้ หากผู้ผลิตหรือนำเข้าสินค้ารายใดไม่ได้รับใบอนุญาตหรือฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าภาชนะ เมลามีน ยื่นขออนุญาตกับ สมอ. แล้ว 22 ราย แบ่งเป็น ผู้ผลิตในประเทศ 10 ราย และผู้นำเข้า 12 ราย โดยทุกรายจะต้องทำหรือนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

สมอ. จะตรวจสอบร้านค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด รวมถึงการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ด้วย หากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo