Economics

คาดรัฐเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล – ก๊าซหุงต้มดันเงินเฟ้อพุ่ง 1.1%

OIL2

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินหากรัฐบาลเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล – ก๊าซหุงต้ม คาดดันเงินเฟ้อพุ่งอีก 1.1%

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกที่ขณะนี้หลายฝ่ายคาดว่าอาจโอกาสแตะ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว ท่ามกลางความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ยังจำกัด แม้ว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี อาจจะสูงกว่าที่ประเมินไว้บ้าง แต่มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐจะช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกลง

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงมุมมองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 ไว้ที่ 1.1% และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 4.6% โดยอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 0.2-0.4% ผ่านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และดุลการค้าของไทยที่ลดลง ทั้งนี้ ดุลการค้าที่ลดลงมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าสุทธิน้ำมันของไทย (มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบหักออกด้วยมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป) แต่ในขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในกรณีที่ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในปีหน้าอยู่ที่ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็นการเพิ่มขึ้นที่ 13.3% เมื่อเทียบกับกรณีฐานที่ให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2562 อยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ การส่งผ่านผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมายังตะกร้าเงินเฟ้อขึ้นอยู่กับนโยบายการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐ ในกรณีที่มีการตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และก๊าซ LPG ไว้ที่ 363 บาทต่อถัง จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.7%

ส่วนในกรณีที่มีการทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG ให้สะท้อนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นอีก 1.1% อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของเงินเฟ้อในปีหน้า นอกจากเรื่องราคาน้ำมันที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อแล้ว ยังต้องติดตามเรื่องภาวะภัยแล้งที่อาจจะมาเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะมีผลต่อราคาพืชผลเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีหน้าอีกทางหนึ่ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight