Economics

ปตท. มั่นใจ 3 ปัจจัยหนุนศักยภาพไทย เป็น ‘LNG HUB’ ระดับอาเซียน ปี 2565

 

ปตท. มั่นใจประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายเป็น  Regional LNG Hub ได้ในปี 2565 เนื่องจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการใช้ในประเทศ และสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางของอาเซียน

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Regional LNG Hub ในปี 2565 ซึ่งมีความมั่นใจว่า จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการใช้ในประเทศสูง และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไทยถือว่าอยู่ตรงกึ่งกลางในภูมิภาคอาเซียน

“ตอนนี้ทั้ง สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ต่างประกาศตัวจะเป็น LNG Hub และไทยเองก็มีเป้าหมายจะเป็น Regional LNG Hub ด้วย ซึ่ง ปตท.มั่นใจว่ามีศักยภาพที่จะผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ในปี 2565″

วุฒิกร สติฐิต
วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

ขณะนี้ ปตท. อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ LNG Terminal ที่หนองแฟบ ซึ่งเป็นคลังรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 มีกำลังการจัดเก็บและแปรสภาพ 7.5 ล้านตันต่อปี มีความคืบหน้าประมาณ 58.6% โดยกำหนดเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2565

“หากเสร็จ จะช่วยเพิ่มความสามารถรองรับ LNG เป็น 19 ล้านตันต่อปี หนุนความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย”

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมาก ทำให้มีความได้เปรียบในเรื่องของตลาดรองรับ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ที่ต้องการเป็น Regional LNG Hub โดยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ ในสัดส่วนสูงถึง 43%

LNG

แม้ว่าผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ความต้องการใช้ลดลง แต่คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าในปี 2564 จะมีการนำเข้า LNG เพิ่มเป็น 19%

อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลง 8-10% จากปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่การนำเข้า LNG อยู่ที่ ประมาณ 5.6-5.7 ล้านตัน เป็นสัญญาระยะยาว (long term) ประมาณ 5.2 ล้านตัน และประมาณ 4-5 แสนตัน เป็นการนำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร (Spot)

ในปี 2564 คาดว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 และยังมีช่องว่างสำหรับรองรับการนำเข้า Spot LNG ประมาณ 4-5 แสนตัน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นปริมาณที่ ปตท. และเอกชนผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) สามารถพิจารณานำเข้าได้

แต่จะมีการนำเข้าปริมาณเท่าไรนั้น ยังต้องประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซ และราคาก๊าซในขณะนั้น รวมถึงการอนุมัติจากภาครัฐด้วย

birdeyeofPTTLNG 257 20170620 102504 700x467 1

เจาะตลาดกลุ่ม CLMV-จีนตอนใต้

“เดิมปีนี้ ปตท. มีแผนนำเข้า Spot LNG จำนวน 11 ลำ แต่นำเข้าจริง 7 ลำ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และหยุดนำเข้าไปเพราะราคาแพงขึ้น ฉะนั้น ปีหน้า หากราคาลงไป 3-4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะเป็นโอกาสนำเข้า LNG รวมถึงการส่งออก LNG ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า LNG ราคาสูงจะทำตลาดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะและความเหมาะสม”

ปตท. คาดว่า จะเริ่มดำเนินการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG ) เชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 เลื่อนออกไปจากแผนเดิมที่ตั้งเป้าหมายจะเริ่มส่งออกเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3 ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใน 2 โครงการที่เกี่ยวข้องกับ Regional LNG Hub หลังจาก ปตท. ได้เริ่มทดลองดำเนินการไปแล้วในช่วงต้นปีนี้ ด้วยการนำเข้า LNG แล้วส่งออกไปยังจีนตอนใต้ แต่ติดปัญหาโควิด-19 จึงหยุดแผนทดสอบตลาดชั่วคราว

นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคา LNG ตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศผู้ซื้อชะลอการนำเข้า LNG ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซ เพื่อผลิตไฟฟ้าลดลง และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้า จะเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้ราคา LNG ปรับลดลงได้ ซึ่งการส่งออก LNG นั้น ปตท. มุ่งตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ เพราะมีความต้องการใช้ก๊าซเติบโตสูง

แผนที่ LNG

ท่อส่งบนบกเส้นที่ 5  เพิ่มความแข็งแกร่งธุรกิจก๊าซ

นายวุฒิกร กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ เพราะจะเชื่อมโยงกำลังการส่งก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออก ไปยังโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2565 หลังจากโครงการ LNG Terminal ที่หนองแฟบ เสร็จ

ขณะที่ ปัจจุบันเริ่มมีการทดลองส่งก๊าซ ให้กับโรงไฟฟ้า IPP ของกัลฟ์ เมื่อเดือนตุลาคม 2563  ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้ากัลฟ์ จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ในปี 2564

ระบบท่อ และ LNG Terninal ของ ปตท. ยังให้บริการผู้นำเข้า LNG รายอื่น ที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต LNG Shipper รายใหม่ ตามข้อกำหนด เกี่ยวกับการเปิดให้ใช้ หรือ เชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบก แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access Code :TPA Code และการเปิดให้ใช้ หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานี LNG แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime : TPA Regime)

ปัจจุบัน มีผู้ได้รับใบอนุญาต 3 ราย คือ กฟผ., กัลฟ์ และ บี.กริม ที่ยื่นเรื่องเข้ามา ซึ่ง ปตท. พร้อมพิจารณา เพื่อส่งเสริมการแข่งขันนำเข้าก๊าซฯ เสรี แต่จะเริ่มนำเข้าก๊าซได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ

ดังนั้นอีก 3 ปีข้างหน้า โครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจก๊าซ ของ ปตท. ก็จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีความแข็งแกร่ง พร้อมรับการแข่งขัน ตามเป้าหมายในการกลายเป็น Regional LNG Hub

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo