Economics

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย. พุ่งสูงสุดในรอบ 9 เดือน ปัจจัยหนุนเพียบ!

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พฤศจิกายน 2563 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน หลังปัจจัยหนุนเพียบ ชี้ยังหวั่นชุมนุม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 52.4 จาก 50.9 ในเดือน ตุลาคม 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 45.6 จาก 43.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 50.0 จาก 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 61.6 จาก 59.9

ธนวรรธน์312

สำหรับปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่

  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 3/63 ลดลง -6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 พร้อมปรับคาดการณ์ GDP ในปี 63 ว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือ -6% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง -7.8 ถึง -7.3%
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี
  • รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการช้อปดีมีคืน ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย

  • ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุม
  • ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว
  • ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • การส่งออกไทยในเดือนต.ค.63 ลดลง -6.71%
  • เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
  • ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง รายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo