Economics

ยันไม่แปลก! ‘อาคม’ สั่ง ‘สบน.’ ศึกษาแนวทางกู้เงินต่างประเทศ

“รมว.คลัง” สั่ง “สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ” ศึกษาแนวทางกู้เงินต่างประเทศ เน้นการกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ยันไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่งานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า ได้มอบนโยบายให้ สบน. ศึกษาแนวทางการกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายแหล่งเงินกู้ โดยให้เน้นการกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ไม่ใช่การกู้จากตลาดเงินในต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนการกู้เงินระหว่างในประเทศกับต่างประเทศในปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกันมากนัก

ทั้งนี้ การกู้เงินจากต่างประเทศขอให้เป็นการกู้เงินเพื่อใช้ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ โครงการที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง, โครงการที่สนับสนุนการแข่งขันของประเทศ เช่น ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล หรือด้านระบบขนส่งมวลชน โครงการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green economy) และโครงการลงทุนเชิงสังคมที่เน้นด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งจะเป็นโครงการที่ต่อยอดในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต ซึ่งจะสนับสนุนความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อาคม1
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

“ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ความต้องการใช้เงินกู้ในประเทศของภาคเอกชนอาจจะเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการให้ สบน. ศึกษาแนวทางการกู้เงินจากต่างประเทศไว้ เพื่อเป็นการกระจายแหล่งเงินกู้ ซึ่งยืนยันว่าการกู้เงินจากต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะหากไปดูประเทศจีนที่เศรษฐกิจมีการพัฒนาแล้ว ก็ยังมีความต้องการกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยอยู่เสมอ ในส่วนของไทยที่ยังมีการลงทุนด้านต่าง ๆ น้อยอยู่ การกู้เงินเพื่อนำมาพัฒนาประเทศจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2564 สบน. ยังไม่มีแผนกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่ม หลังจากที่ได้มีการลงนามการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทไปแล้ว เพื่อนำมาดูแลสถานการณ์โควิด-19

สำหรับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของรัฐบาล อยู่ที่ 49.34% ในปัจจุบัน ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ที่ไม่เกิน 60% และแม้ว่ารัฐบาลได้กู้เงินผ่านพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาทแล้วก็ตาม ในปีหน้าและระยะ 5 ปีข้างหน้า ยังยืนยันว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ก็ยังไม่เกินเพดานที่กำหนด

“ภาระหนี้ต่อจีดีพียังขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำ ก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้น ซึ่งในปี 2564 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 4% และในช่วง 5 ปีข้างหน้า คาดว่า จีดีพีจะขยายตัวได้ 3-5%” นายอาคม กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo