Economics

‘คนละครึ่ง’ สุดปัง! ‘กรณ์’ มองศักยภาพต่อยอดแพลตฟอร์ม E-commerce ไทย

“คนละครึ่ง” ปังปุริเย่! “กรณ์ จาติกวณิช” มองศักยภาพต่อยอดสร้างแพลตฟอร์ม E-commerce ไทย เหมือนที่หลายคนวาดฝัน แต่ยังมีจุดอ่อนที่รัฐยังทำงานแบบไซโล

วานนี้ (12 พ.ย. 63) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์เฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช – Korn Chatikavanij ถึง คนละครึ่ง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งมีเสียงตอบรับที่ดีมากจากประชาชน

นายกรณ์แสดงความเห็นว่า โครงการคนละครึ่งช่วยผลักดันให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และระบบดิจิทัล รวมถึงมีข้อมูลในมือจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ คนละครึ่ง มีศักยภาพในการต่อยอดสู่การสร้างแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ (E-commerce) ไทย แต่อุปสรรคคงอยู่ที่ภาครัฐ ซึ่งทำงานแบบต่างคนต่างทำ จึงต้องมียุทธ์ศาสตร์ที่ชัดเจนจากส่วนกลาง

คนละครึ่ง กรณ์ E-commerce

“กรณ์” แสดงวิสัยทัศน์ต่อยอด คนละครึ่ง สู่แพลตฟอร์ม E-commerce

#คนละครึ่ง กับ อนาคต E-commerce ไทย

เมื่อวานผมอ่านหลายความคิดเห็น หลังจากที่ผมได้โพสต์เกี่ยวกับธุรกิจการค้าออนไลน์ พบว่ามีหลายคำถาม ว่าทำไมประเทศไทยไม่พัฒนาระบบ E-commerce Platform ของตัวเองบ้าง ทั้งๆ ที่ไทยมียอดการใช้จ่ายในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี อุปสรรคคืออะไร ทำไมเรายังไม่ไปถึงจุดนั้น ผมว่าโอกาสเรามี แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนมองเห็นมันหรือไม่

[ คนละครึ่ง ]

โดยเหตุการณ์เมื่อวานนอกจากจะมีวันโปรดุ 11.11 แล้ว ก็มีอีกหนึ่งโครงการที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน กับมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ‘คนละครึ่ง’ ที่รัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ ให้กับประชาชนครึ่งหนึ่ง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

โดยการเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 นั้นครบกำหนดตามสิทธิ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งตั้งแต่เปิดโครงการมา มียอดการใช้จ่ายผ่าน app “เป๋าตัง” ไปแล้วถึง 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินเหล่านี้ไปถูกกระจายไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ลงทะเบียนแล้ว กว่า 5.7 แสนร้าน รวมไปถึงแผงลอยตามตลาด ทำให้สามารถเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ตามความตั้งใจ

โดยโครงการนี้ ‘ไม่อนุญาต’ ให้ร้านค้าขนาดใหญ่ และโมเดิร์นเทรดเข้ามาสร้างความได้เปรียบแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และภาครัฐกำลังพิจารณาที่จะเปิดรอบ 3 เพิ่มขึ้นอีกในช่วงปลายปี

เศรษฐกิจ ถนน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการ sme

[ โอกาส E-Commerce ไทย ]

สำหรับผู้ที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วขอให้ลองคิดตามนะครับ ว่ารัฐตอนนี้ได้ทำให้คน 12 ล้านคนยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้ cashless มากขึ้น และเช่นเดียวกันผู้ค้ากว่า 600,000 รายก็เข้ามาอยู่ในระบบดิจิตอล ดังนั้นสิ่งที่รัฐมีมากมายคือ ‘Data ข้อมูล’

ลองจินตนาการต่อไปว่าในอนาคต หากรัฐเปิดโอกาสให้เราคนไทยเสนอขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคตามฐานข้อมูลที่รัฐมี และรัฐยังช่วยสนับสนุนด้วยโปรโมชั่นต่างๆ รวมถึงบริการส่งของผ่านไปรษณีย์ไทย…นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ e-commerce platform ของไทยที่เรารอคอย

โดยสรุปคือข้อมูลเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมากต่อการนำมาพัฒนา E-commerce Platform ต่อในอนาคต นอกจากทำให้เงินไม่ไหลไปแพลตฟอร์มต่างประเทศแล้ว ยังช่วยให้สินค้าไทยมีพื้นที่ตลาดที่ชัดเจนของเราเอง ข้อมูล data พฤติกรรมคนไทยไม่รั่วไหลไปสู่ต่างชาติ รวมถึงสามารถช่วยประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบ Cashless Society

[ ความท้าทายของภาครัฐและระบบราชการ ]

ปัญหาหนึ่งของรัฐไทยคือการทำงานแบบ ‘silo’ คือต่างคนต่างทำ อย่างกรณีนี้ข้อมูล ‘คนละครึ่ง’ อยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้ที่มีพันธกิจสร้าง e-commerce platform คือ กระทรวงดิจิตอล และกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์จากส่วนกลางที่ชัดเจนกว่านี้

#ไทยจะดีกว่าถ้ากล้าลงมือทำ

แจกเงิน1311

เสียงตอบรับดีมาก รัฐบาลเปิดเฟส 2

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เตรียมเปิดโครงการคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นกำลังการใช้จ่าย ในระยะที่ 2 (เฟส 2) ในต้นปี 2564 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับประชาชน หลังจากมาตรการในระยะแรกได้รับการตอบรับจากประชาชนมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิครบ 10 ล้านคน หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนรอบเก็บตกเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนอีก 2.5 ล้านคน

โครงการ คนละครึ่งเฟส 2 จะเริ่มในปี 2564 เป็นการขยายเวลามาตรการออกไปจากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปีใหม่ ส่วนจะมีการเพิ่มสิทธิมากกว่า 10 ล้านคนหรือเพิ่มวงเงิน เพื่อนำไปใช้จ่ายมากกว่า 3,000 บาทหรือไม่ จะต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ใช้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอ เพียงแต่ขอไปดูรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าสรุปได้ในเดือน ธันวาคมนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo