Economics

ไม่หวั่นโควิด-เศรษฐกิจซบ คนไทยเดินสาย ‘ทำบุญไหว้พระ’ เงินสะพัดหมื่นล้าน

ผลสำรวจเผย แม้โควิดระบาด-เศรษฐกิจ ตกต่ำ แต่คนส่วนใหญ่ยังเดินสาย “ทำบุญไหว้พระ” เท่าเดิม คาดเงินสะพัดหมื่นล้าน 

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมและความเห็นของผู้บริโภคทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2563 จำนวน 7,904 คน เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการทำบุญไหว้พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง และใช้จ่ายในเรื่องใดโดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโควิด-19

ผลการสำรวจพบว่า ในการเดินทางไปทำบุญและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตอบว่าเท่าเดิม 44.98% อันดับ 2 คือลดลง 43.95% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยลบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว และอันดับ 3 คือเพิ่มขึ้น 11.07% โดยส่วนที่เพิ่มมาจากข้าราชการ พนักงาน และผู้ไม่มีงานทำเป็นหลัก

ศุกร์ละวัดวัดพระแก้ว8

สำหรับวัตถุประสงค์ 3 อันดับแรกในการเดินทางไปทำบุญและขอพร ได้แก่ เป็นขวัญและกำลังใจในชีวิต 42.42%, ขอโชคลาภ/เงินทอง 29.64%, ขอเรื่องการงาน-ธุรกิจ 10.95%, สุขภาพ 8.74%, ความรัก ครอบครัว 5.90% และการเรียนการศึกษา 2.34%

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเรื่องขวัญกำลังใจ รายได้และการงาน เป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำบุญสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

สำหรับผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในการทำบุญพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 44.72% มีค่าใช้จ่ายต่อสถานที่ โดยเฉลี่ย 100-200 บาท รองลงมาคือน้อยกว่า 100 บาท 24.57%

ดังนั้นประชาชนกว่า 70% ทำบุญครั้งละไม่เกิน 200 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้ไม่มีงานทำ และนักเรียน/นักศึกษา ค่าใช้จ่ายที่เกินกว่า 200 บาทขึ้นไป ส่วนมากเป็นกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐ และนักธุรกิจ/เจ้าของกิจการ โดยส่วนใหญ่เป็นการบริจาคตู้ทำบุญ ถึง 47.58% รองลงมา คือการถวายสังฆทาน 39.46%, บูชาเครื่องรางของขลัง 5.59%, สะเดาะเคราะห์ 5.10% และเสี่ยงทาย เช่น เซียมซี ยกพระเสี่ยงทาย 2.28%

นอกจากนั้น  ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เพราะนอกเหนือจากการทำบุญในศาสนสถาน บริเวณโดยรอบยังเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้กับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย อีกทั้งยังมีกิจกรรมทางความเชื่อนอกเหนือจากพิธีกรรมทางศาสนาที่ผู้คนบางส่วนนิยมใช้จ่าย

อาทิ การดูดวงชะตา แบ่งเป็นชะตาราศี เช่น วัน เดือน ปีเกิด 54.13% ลายมือ 20.94% ไพ่ยิปซี  12.23% โหงวเฮ้ง 6.97% และร่างทรง นั่งทางใน 5.72% ซึ่งค่าใช้จ่ายมีตั้งแต่หลักสิบบาทจนถึงหลักพัน หรือการบูชา เช่าพระเครื่องเพื่อการเก็งกำไร ที่มีมูลค่าสูงเป็นหลักล้านบาท

บรรยากาศพุทธศาสนิกชน ร่วมไหว้พระ ขอพรสิ่ง

จากผลการสำรวจในครั้งนี้ สนค. ประมาณการว่า การเดินทางไป ทำบุญไหว้พระ ของประชาชนสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบ เศรษฐกิจ ได้ประมาณ 10,800 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวรวมของไทยในปี 2562

ผลสำรวจดังกล่าวให้เห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีโอกาสต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศควบคู่ไปกับภาคบริการการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะมีมูลค่าโดยรวมแล้วยังสามารถช่วยให้เกิดการกระจายรายได้เชิงพื้นที่ได้อย่างดี เนื่องจากศาสนสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของไทยมีอยู่กระจายทั่วทุกจังหวัด

การประชาสัมพันธ์และการเก็บข้อมูลที่แม่นยำและต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแลสถานที่เหล่านี้ให้คงสภาพดีและมีความสอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว จะสามารถสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในสาขานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ประเด็นด้านศาสนาและความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องมีความระมัดระวังในการกำหนดมาตรการ นโยบายให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงบริบทความเชื่อและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจเกิดขึ้นได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo