Economics

หวั่นยอดคนจนปี 63 พุ่ง หลังโควิดกระทบเศรษฐกิจ-จ้างงาน!

สศช. รายงานสถานการณ์ความยากจนปี 2563 ลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน จากระดับ 6.7 ล้านคนในปีก่อน หวั่นยอดคนจนปีนี้พุ่ง หลังโควิดกระทบเศรษฐกิจ – จ้างงาน

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผย สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำปี 2562 พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจน ระหว่างปี 2541 – ถึงปัจจุบัน สัดส่วน และ จำนวนคนจน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 38.63% ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือ 17.88% ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือ 6.24% ในปี 2562

สศช.

สำหรับสถานการณ์ความยากจน 5 ปี (ปี 2558 – 2562) พบว่า สัดส่วนคนจนอยู่ในระดับต่ำ โดยมีสัดส่วนไม่เกิน 10% และ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง คือ ปี 2559 และ 2561 โดยสัดส่วนคนยากจนที่เพิ่มขึ้น ในปี 2559 เกิดจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ปี 2561 เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ เงินบาทแข็งค่า และ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ซึ่งส่งผลสืบเนื่องต่อผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารโลก

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ความยากจนระยะหลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และธนาคารโลก ระบุว่า อาจเกิดจากความยากจนของไทยลดลงมาก จากอดีตที่ผ่านมา ทำให้ครัวเรือนที่มีสถานะยากจนในปัจจุบัน เป็นครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง หรือ อยู่ในกับดักของความยากจน ซึ่งต้องมีนโยบายแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์กลุ่มคนยากจนระยะหลัง พบว่า ครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ มีการพึ่งพิงสูงโดยมีเด็ก และ ผู้สูงอายุจำนวนมากในครัวเรือน และ จบการศึกษาระดับประถมศึกษา และ ต่ำกว่า อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ ทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีรายได้น้อย สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยากจนมีความสามารถในการสร้างรายได้ได้น้อย

สำหรับการปรับตัวลดลงของคนจนปี 2562 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐปี 2562 โดยเฉพาะ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลเปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (พ.ค. – มิ.ย.61) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรอบก่อนหน้า

โดยผู้ที่มีบัตรฯ จะได้รับการช่วยเหลือ ด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่ วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 – 300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ วงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และ ค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้งคนยากจนบางส่วน ยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

อย่างไรก็ตาม สศช. ระบุว่า แม้สัดส่วนคนจนปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo