Economics

ธปท.ออกเกณฑ์คุมสินเชื่อคาร์ฟอร์แคชหวังดูแลผู้บริโภค

ดารณี แซ่จู

“ธปท.” ออกเกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ชี้กำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 28% คาดเริ่ม พ.ย.นี้

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ออกเกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถเป็นหลักประกัน หรือคาร์ฟอร์แคช เพื่อคุ้มครองดูแลผู้บริโภค โดยคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยปัจจุบันสินเชื่อคาร์ฟอร์แคชมีผู้ใช้บริการประมาณ 3 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นประชาชนระดับฐานราก กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ มีผู้ประกอบการกว่า 1,000 รายทั่วประเทศ มียอดคงค้างสินเชื่อ 200,000 ล้านบาท และยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าบางส่วนทำสัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรม มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง คิดดอกเบี้ยสูงเกินกำหนด เช่น คิดดอกเบี้ยจำนำรถยนต์สูงถึง 20-30% สำหรับรถจักรยานยนต์สูงถึง 25-65% และไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ดังนั้น ธปท.จึงต้องออกแนวทางกำกับดูแล เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและไม่โดนเอาเปรียบ โดยบริษัทที่ทำธุรกิจคาร์ฟอร์แคชต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อข้ามจังหวัดได้ โดยกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ 28% ต่อปี ซึ่งรวมค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ยกเว้นค่าทวงถามหนี้ที่คิดได้ตามจริง ส่วนการอนุมัติวงเงินสินเชื่อไม่กำหนดขึ้นอยู่กับมูลค่าหลักประกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการห้ามคิดค่าธรรมเนียม Prepayment Fee หากลูกค้านำเงินมาปิดบัญชีล่วงหน้า ต้องคืนส่วนต่างจากการขายหลักประกันที่ได้เกินมูลค่า กรณีผิดนัดชำระหนี้ให้คำนวนเงินต้นคงเหลือเท่านั้น หากผู้ประกอบการทำผิดหลักเกณฑ์จะมีโทษตั้งแต่เปรียบเทียบปรับจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต

นางสาวดารณี กล่าวว่า ผู้ประกอบการสินเชื่อคาร์ฟอร์แคชที่อยู่ในระบบกว่า 1,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยมีเพียง 100 ราย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 50 ล้านบาท และ 30 ราย มีใบอนุญาตธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้ว ในจำนวนนี้ 17 รายมีใบอนุญาตสินเชื่อคาร์ฟอร์แคช ส่วนที่เหลืออีก 13 รายจะต้องมาขอใบอนุญาตจาก ธปท.เพิ่มภายใน 60 วัน ส่วนผู้ประกอบการใหม่ที่ยังไม่มีใบอนุญาตต้องมาขอใบอนุญาตจาก ธปท.ก่อนดำเนินธุรกิจ หากไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย คือ ดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งจะมีความผิดทางอาญาและโทษทางปกครอง

ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทุนจดทะเบียนไม่ถึง 50 ล้านบาท สามารถขอใบอนุญาต Pico Finance จากกระทรวงการคลังแทน ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถจักรยานยนต์ให้บริการได้เฉพาะภายในจังหวัดและกำหนดเพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 36%

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight