Economics

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ BBB+ กังวลหนี้ครัวเรือน-การเมือง

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ ห่วงหนี้ครัวเรือนและความไม่แน่นอนการเมือง

บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

money29103

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Credit Rating) ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจาก ประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีส่วนช่วยรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง (Shock) และความผันผวนของวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เป็นอย่างดี

2. ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความแข็งแกร่งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี Fitch เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตในระยะปานกลางได้ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวขึ้น 3.8% เป็นผลจากการดำเนินมาตรการทางการคลังของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว สร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศมีความเปราะบางได้

3. ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความเข้มแข็ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

4. ประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo