Economics

‘รถไฟไทย-จีน’ ลงนามสัญญา 2.3 งานวางระบบและจัดหาขบวนรถ 5 หมื่นล้าน

นายกฯ เป็นสักขีพยานลงนาม “รถไฟไทย-จีน” สัญญา 2.3 งานวางระบบและจัดหาขบวนไฮสปีด มูลค่า 5 หมื่นล้าน ระหว่างการรถไฟฯ- 2 รัฐวิสาหกิจจีน

วันนี้ (28 ต.ค. 63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามใน “สัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3)” ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างรัฐวิสาหกิจของไทยและจีน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

รถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 ลงนาม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การลงนามในสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ระหว่างการรถไฟฯ และรัฐวิสาหกิจจีนทั้ง 2 แห่ง ในลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐ (G to G) มีขอบเขตงาน ได้แก่

  • งานวางระบบราง ระยะทาง 253 กิโลเมตร
  • งานระบบ รถไฟ ความเร็วสูง
  • ระบบไฟฟ้า
  • ระบบอาณัติสัญญาณ
  • ระบบสื่อสาร
  • งานจัดหาขบวนรถไฟ
  • งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบารุง
  • งานถ่ายทอดเทคโนโลยี

ทั้งนี้ รถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 มีวงเงิน 50,633.5 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในกรอบวงเงินรวมของโครงการทั้งหมด 179,412.21 ล้านบาท

โครงการ รถไฟ ความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

มีแนวเส้นทางโครงการผ่าน 5 จังหวัด มี 6 สถานี คือ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ซึ่ง 4 สถานีหลังเป็นสถานี รถไฟ ความเร็วสูงที่ก่อสร้างใหม่ในโครงการนี้ รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร

แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือสัญญา 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก, อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก และเตรียม ลงนามในสัญญาก่อสร้างอีก 9 สัญญา มีกรอบวงเงินรวมของโครงการ 179,412.21 ล้านบาท

โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบออกแบบ และติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ระบบควบคุมการเดินรถ จัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง และฝึกอบรมบุคลากร

“โครงการระยะที่ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 และ 30 พฤศจิกายน 2560 ส่วนรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงได้ผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา”

  • ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย

ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโดยฝ่ายไทยทั้งหมด

MOT 2563 10 28 ลงนามสัญญางานระบบไฟฟ้ารถไฟไทย จีน 327

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีเป้าหมายในอนาคตเมื่อมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแล้ว จะทำให้ประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญระบบรางมากขึ้น มีองค์ความรู้

เพื่อพัฒนาต่อยอดให้คนไทยมีความสามารถในการออกแบบ ผลิตชิ้นส่วน ประกอบ และซ่อมบารุงระบบราง เกิดงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมระบบรางของไทยเทียบเท่าชั้นมาตรฐานระดับสากล นำไปสู่การใช้วัสดุภายในประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบราง รถไฟ ไทย คิดเป็นมูลค่าเพิ่มในประเทศ 21,600 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานอีกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี

เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยยกระดับมาตรฐาน รถไฟ ไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ ทำให้บุคลากรของประเทศไทยได้รับความรู้และเทคโนโลยีระบบรางจากจีน ต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต และเป็นการเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างไทย จีน และเอเชีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo