Economics

ทอท.มั่นใจลงนามจ้าง ‘ดวงฤทธิ์’เดือน ธ.ค.นี้

ทอท. ส่งฝ่ายกฎหมายเคลียร์ปมออกแบบเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ สร้างความมั่นใจอีกรอบก่อนลงนามสัญญา   “นิตินัย” เชื่อไม่มีปัญหา เดินหน้าลงนามจ้าง “ดวงฤทธิ์” เดือน ธ.ค.นี้

นิตินัย ศิริสมรรถการ ทอท.
นิตินัย ศิริสมรรถการ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยระหว่างงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการปรับแผนแม่บท (Master Plan) สนามบินสุวรรณภูมิและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกวดแบบอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วันนี้ (26 ก.ย.) ว่า

หลังจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. รับทราบคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่สั่งไม่คุ้มครองการประกวดออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ และบอร์ดได้สั่งให้เดินหน้าการประกวดออกแบบต่อแล้ว ขณะนี้ทาง ทอท. ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้อนุกรรมการกฎหมายตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อความมั่นใจ

โดยอนุกรรมการฯ จะนัดประชุมในต้นเดือนตุลาคมและคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ก็จะทราบผล หากอนุกรรมการฯ สรุปว่าไม่มีปัญหาใดๆ ก็สามารถลงนามสัญญากับผู้ผ่านการคัดเลือก คือ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ “กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค” ได้ทันที

SWP Ter2 ๑๘๐๘๒๖ 0013
ดวงฤทธิ์ บุนนาค

คาดลงนามจ้าง ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ เอกสารประกวดราคาของกลุ่มดวงฤทธิ์ระบุว่า เอกชนจะยืนข้อเสนอด้านราคาได้ถึงเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งนายนิตินัย ก็เชื่อว่าอนุกรรมการฯ จะมีข้อสรุปไม่เกินระยะเวลาดังกล่าว แต่หากไม่สามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือนธันวาคมและกลุ่มดวงฤทธิ์ต้องการปรับขึ้นค่าออกแบบ ก็คงต้องมีการเจรจาต่อรองกันอีกครั้ง

“แต่เรามั่นใจว่าจะจบให้ได้ก่อนเดือนธันวาคม”

สำหรับกรณีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเอสเอกรุ๊ป ผู้ได้รับคะแนนด้านเทคนิคสูงสุด ถูกตัดตกและไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะไม่ได้แนบต้นฉบับใบเสนอราคานั้น นายนิตินัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการ ฟ้องร้องในชั้นศาลและต้องให้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์กันไป โดย ทอท. มั่นใจว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความรัดกุมและถูกต้อง แต่หากสุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัยเป็นอีกแบบหนึ่ง ทอท. ก็ต้องรับผิดชอบ

ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่า กลุ่มดวงฤทธิ์ลอกแบบนั้น ทอท. ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของวิชาชีพสถาปนิก ดังนั้น ทอท. จึงเชิญสถาปนิกเป็นร่วมคณะกรรมตัดสินครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใส รวมถึงมีสถาปนิกภายนอกเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วย

SWP Ter2 ๑๘๐๘๒๖ 0026

ย้ำใช้วัสดุตามมาตรฐาน ICAO

ด้านข้อท้วงติงที่ว่า จะมีการนำไม้มาประดับอาคารและทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่ายนั้น ขออธิบายว่าขณะนี้เป็นเพียงการประกวดแนวคิดในการออกแบบ ไม่ใช่แบบจริงที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้าง และตอนนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดว่า จะใช้วัสดุประเภทไม้ภายในอาคาร โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องพัฒนาแบบรายละเอียด ให้สอดคล้องกับกฎหมายทุกฉบับและมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อีกครั้ง ภายในระยะเวลา 10 เดือน จากนั้น ทอท. จึงตรวจรับแบบต่อไป

“เรื่องที่เขาร้องเรียนนายกฯ อีกรอบ ไม่น่าจะมีผล เพราะเราทำกระบวนการ มีเกณฑ์ชัดเจน ทอท. ก็ทำดีที่สุดแล้ว เท่าที่จะทำได้ ส่วนเรื่องข้อสังเกตอื่นๆ บอกได้แค่ว่าใช่กับไม่ใช่ ส่วนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบเป็นเรื่องส่วนตัวเฉพาะบุคคล” นายนิตินัยกล่าว

ทั้งนี้ หาก ทอท. สามารถลงนามสัญญากับกลุ่มดวงฤทธิ์ได้ในปลายปี 2561 ก็จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดอีก 10 เดือนและจะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาทในปลายปี 2562 โดยอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิอีก 30 ล้านคน/ปี

สุวรรณภูมิ

เล็งขยายอาคารด้านตะวันตก-ตะวันออก

สำหรับกรณีที่มีการกล่าวหาว่า ทอท. ไม่ขยายสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บท (Master Plan) นั้น นายนิตินัย เปิดเผยว่า สนามบินสุวรรณภูมิมีการจัดทำแผนแม่บทครั้งแรกในปี 2536 จากนั้นก็มีการทบทวนแผนแม่บททุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งนักวิชาการบางคนอาจไม่ได้มีส่วนร่วมกับการทบทวนแผน จึงไม่มั่นใจว่าการทบทวนแผนจะส่งผลดีอย่างไร

ที่ผ่านมา ได้มีการทบทวนแผนแม่มาแล้ว 4 ครั้ง ได้แก่ ปี 2546 ปี 2552 ปี 2554 และล่าสุดปี 2561 ซึ่งการทบทวนครั้งล่าสุด เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่ล่าช้า, เพิ่มความสามารถในการรองรับ ให้ทันจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการบิน เช่น เครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น การจราจรแออัด

นอกจากนี้ ทอท. มีแผนจะลงทุนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตกและด้านทิศตะวันออก เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นด้านละ 15 ล้านคน/ปี หรือรวมเป็น 30 ล้านคน/ปี โดยจะเปิดประมูลอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตกก่อน แต่จะไม่ดำเนินการก่อสร้างทั้ง 2 ฝั่งพร้อมๆ กัน เพราะกระทบต่อพื้นที่บริการประชาชน เช่น เคาน์เตอร์เช็คอิน

Avatar photo