Economics

‘ปิยสวัสดิ์’เชียร์เดินหน้าหาผู้สำรวจผลิตแหล่งเอราวัณ-บงกช

‘ปิยสวัสดิ์’ เชียร์เดินหน้าประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชต่อ ยืนยันเจรจาต่อรองกับเจ้าเดิมที่สำรวจและผลิตอยู่แล้ว เป็นการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่ดีที่สุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ย้ำตั้ง NOC นำไปสู่หายนะ

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ให้ความเห็นในช่วงเวลาการเปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกชท่ามกลางเสียงคัดค้านจากบางกลุ่ม ว่า การประมูลแหล่งปิโตรเลียมในครั้งนี้ ควรเดินหน้าต่อไป และเมื่อกระทรวงพลังงานปักธงที่จะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) แล้ว ก็ต้องทำต่อ แต่สัดส่วนการแบ่งปันเหมาะสมหรือไม่ ตอบไม่ได้ แล้วแต่กรณี

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า 98% ทั่วโลกบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่สิ้นสุดสัมปทานซึ่งมีเอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่ก่อนแล้ว จะใช้วิธีการเจรจาต่อรอง เพราะจะได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับการประมูลครั้งต่อไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีแหล่งใหม่ให้สำรวจและผลิตอีกหรือไม่ แต่หากมีและกระทรวงพลังงานจะเปิดประมูล ยืนยันว่าใช้ระบบสัมปทานจะดีที่สุด เหมาะสมกับประเทศที่มีแหล่งผลิตน้อย และหายากอย่างประเทศไทย

“การคัดค้านมีมาตลอด แต่ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะฟังมาก กระทรวงพลังงานเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามเสียงคัดค้านก็ไม่ไหว เพราะเราเสียเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว ตั้งแต่การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อบรรจุเรื่อง PSC  ใส่เข้าไปตามเสียงเรียกร้อง แต่สุดท้ายก็เรียกร้องเรื่องอื่นต่ออีก การบริหารประเทศมีคนคัดค้านอยู่แล้ว แต่ต้องเดินหน้า การเอียงไปเอียงมาก เปลี่ยนนโยบายไปมาไม่ส่งผลดี”

นายปิยสวัสดิ์ ยกตัวอย่าง การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company : NOC) ที่มีเสียงเรียกร้องจากสภาพลังงานเพื่อประชาชน เขายืนยันว่าหากตั้ง จะนำไปสู่หายนะอย่างแน่นอน เพราะเป็นระบบของการรวมศูนย์การบริหารจัดการ

เขา อธิบายเพิ่มเติมในการบรรยายหัวข้อ “ประเด็นพลังงานวันนี้” ในหลักสูตรวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 6 เมื่อวันที่ 25 กันยายน โดยยกตัวอย่างการบริหารกิจการพลังงานในเม็กซิโก เมื่อปี 2481  ที่รัฐบาลได้ยึดกิจการปิโตรเลียมทั้งหมดให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (Pemex ) บริหารแต่เพียงผู้เดียว โดยบริษัทต่างชาติไม่สามารถลงทุน หรือบริหารแหล่งสัมปทานได้เลย เพราะกฎหมายไม่เปิดช่อง ยกเว้นในรูปแบบจ้างผลิต ( Service Contract )

ช่วงแรกการผลิตเติบโตได้ดี จนถึงปี 2514 การผลิตน้ำมันเริ่มลดลงเรื่อยๆมากที่สุดถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การบริโภคพลังงานเติบโตอย่างรวดเร็วกว่า

สาเหตุมาจาก Pemex ขาดความเชี่ยวชาญในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แม้เม็กซิโกจะมีแหล่งปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันดิบจำนวนมาก  แต่ไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ เนื่องจากขาดแคลนเทคโนโลยีและเงินลงทุน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบและปริมาณสำรองน้ำมันดิบของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง

“เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมอันดับ 9 ของโลก แต่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหลายอย่าง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อใช้ในภาคขนส่ง เพราะโรงกลั่นมีไม่เพียงพอ” 

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า ผลักดันให้เม็กซิโกต้องปฏิรูปพลังงานของประเทศในปี 2556  โดยเปิดทางให้เอกชนต่างชาติลงทุนมากขึ้นในรอบ 75 ปี นับตั้งแต่ให้ Pemex ผูดขาดเมื่อปี 2481 สาระสำคัญของการปฏิรูปพลังงานมีด้วยกัน 6 เรื่อง ประกอบด้วย

1.ยุติการผูกขาดของ Pemex ในธุรกิจพลังงานในประเทศ และเปิดกิจการต้นน้ำให้เอกชนลงทุนเสรี หลังจากเอื้อสิทธิให้ Pemex

2.วางกรอบที่ใช้สำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยสามารถเลือกใช้รูปแบบสัญญาการสำรวจได้ 3 รูปแบบ คือ License ซึ่งคือระบบสัมปทาน ,Service  contract หรือจ้างผลิต  , Profit Sharing หรือ การแบ่งปันผลกำไร และ Product Sharing หรือแบ่งปันผลผลิต เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น

3.เปิดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ รวมถึงภาคไฟฟ้า โดยปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน

4.จัดตั้งองค์กรกำกับดูแล เพื่อรองรับการแปรรูปพลังงาน

5.จัดตั้งกองทุนปิโตรเลียม เพื่อจัดการรายได้ต่างๆของประเทศเม็กซิโกที่มาจากธุรกิจต้นน้ำ

6.ปรับระบบการจัดการภาษี และกฎหมายต่างๆสำหรับบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนและบริหารในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเม็กซิโก

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงาน คาดว่าจะทำให้การผลิตน้ำมันดิบของเม็กซิโกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

Avatar photo