Economics

‘อาคม’ มอบนโยบายกระทรวงคลัง เตรียมหาของขวัญปีใหม่กระตุ้นกำลังซื้อ

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าทำงาน “กระทรวงการคลัง” วันแรก มอบนโยบาย หาของขวัญปีใหม่กระตุ้นกำลังซื้อ ส่วนขยายเวลาพักหนี้มอบ “แบงก์ชาติ” พิจารณา

วันนี้ (14 ต.ค. 63) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ

อาคม คลัง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

จากนั้นนาย อาคม เป็นประธานการประชุม มอบนโยบาย ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังรายงานต่อที่ประชุมฯ ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคบริการ และการท่องเที่ยว คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายการคลัง ที่จะต้องบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม โดยจะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในเรื่องการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก

 

“อาคม” มอบนโยบาย กระทรวงคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงข้อเสนอของเอกชนที่ต้องการให้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ว่า ธนาคารแห่งรปะเทศไทย (ธปท.) ต้องเป็นผู้พิจารณาว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร แต่ตามหลักการขยายเวลาพักหนี้ต้องมีขอบเขตและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดวินัยในการชำระหนี้และเกิดหนี้เสียสะสมเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น ควรใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้และโครงการสร้างธุรกิจไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ จะหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในไตรมาสที่ 4 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเหมือนทุกปี

121457761 1502036796668298 483576936200430279 o

นาย อาคม ยังกล่าวถึงนโยบายการคลัง ที่จะเน้นการประสานนโยบายและมาตรการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างยั่งยืน (Fiscal Sustainability)

มาตรการระยะสั้น จะให้ความสำคัญกับการบริหารภาพรวมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ได้แก่  การขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน คือ การกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ

  • การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เช่น มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ในระยะต่อไป โดยกระทรวงการคลังต้องประสาน ธปท. เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป
  • การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด
  • มาตรการรองรับปัญหาการว่างงานอันเกิดจากวิกฤตโควิด-19 โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนไว้แล้ว
  • การสร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล
  • เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนโดยเฉพาะงบการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

มาตรการระยะปานกลาง เป้าหมายคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและดูแลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย เช่น การจัดเก็บภาษี E-commerce,  Online-trade และ E-logistics เป็นต้น

โดยมีประเด็นเร่งด่วน คือ การเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังเศรษฐกิจเปิด (Reopening economy) ทั้งมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว และการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุน (Financing infrastructure) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป

ขณะเดียวกัน นาย อาคม ได้ มอบนโยบาย ในการทำงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า ต้องมุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับ รายจ่ายและงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตราฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส

นอกจากนี้ จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมถึงจะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม

ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo