Economics

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาด ‘ช้อปดีมีคืน’ ดันเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้น

ช้อปดีมีคืน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดช่วยกระตุ้นการบริโภคไตรมาส 4/2563 ดันความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น มองกลุ่มค้าปลีกได้รับประโยชน์มากที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายชั่วคราว และคงมีผลประโยชน์ต่อการจ้างงานค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้ผลิตอาจจะยังไม่พิจารณากลับมาผลิตเพิ่ม หากอุปสงค์ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี

ช้อปดีมีคืน

ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อาจไม่ได้รับประโยชน์ ขณะที่การฟื้นตัวของการบริโภคหลังจากมาตรการหมดลงคงกลับมาขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว รายได้จากการจ้างงาน และรายได้ภาคการเกษตร เป็นสำคัญ ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้สูง คาดว่า น่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคไตรมาส 4/2563 หากรวมกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง และมาตรการเติมเงินสวัสดิการเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2563 มีแนวโน้มดีขึ้นและหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้า

ช้อปดีมีคืน

อย่างไรก็ตาม มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” น่าจะช่วยให้เกิดการระบายสินค้าคงคลัง อีกทั้งผลักดันยอดขายและเพิ่มสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่างๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยภาพรวมภาคค้าปลีกน่าจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้มากที่สุด ขณะที่ยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อภาคธนาคาร เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตน่าจะขยายตัวมากขึ้น

ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) มีมติเห็นชอบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ภายใต้มาตรการ รักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น และ ส่งเสริมการอ่าน

มาตรการดังกล่าว จะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้า และบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท

กลุ่มเป้าหมาย

  • กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้า OTOP

เงื่อนไขโครงการ

  • สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนฯ
  • ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง รวมแล้วไม่เกิน 30,000 บาท ต่อคน

หากประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ โครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้

ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 ณ เดือน มีนาคม 2564

สามารถซื้อสิ้นค้าและบริการได้ทั้งหมด ยกเว้นบางรายการ ดังนี้

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
  • ค่าซึ้อยาสูบ
  • ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าซื้อรถยนต์ รถจักยานยนต์ และเรือ
  • ค่าซื้อหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการนำเที่ยวตามกฏหมายว่าด้วยธุรกิจและมัคคุเทศก์
  • ค่าบริการที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฏหมายว่าโรงแรม

สำหรับมาตรการดังกล่าวจะ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเนื่องจากการดำเนินมาตรการทั้งหมด 55,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง

ช้อปดีมีคืน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเพิ่มกำลังซื้อ และ การบริโภค ถือเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องทำต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศ ที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ โดยเม็ดเงินจากมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จะทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจและหมุนเวียน 2 แสนล้านบาท โดยมาจาก 3 มาตรการ ได้แก่

1. มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน วงเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาท

2. มาตรการคนละครึ่ง 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เม็ดเงินที่รัฐบาลช่วยจ่ายให้ประชาชน 3 หมื่นล้านบาท และ เงินที่ประชาชนใช้จ่าย 3 หมื่นล้านบาท

3. มาตรการช็อปดีมีคืน ซึ่งประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการใช้จ่ายสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน โดยคาดว่า จะมีผู้เสียภาษีเข้าร่วมโครงการ 3.7 – 4.0 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1.2 แสนล้านบาท โดยภาครัฐสูญเสียรายได้ 1 หมื่นล้านบาท

“ในส่วนมาตรการการลดหย่อน และ คืนภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อราย เป็นตัวเลขที่ภาคเอกชน สะท้อนว่าเหมาะสม และจูงใจให้ประชาชนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในขั้นสูงสุด ที่จะได้รับการลดหย่อนของแต่ละบุคคล โดยถ้าได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 20% ก็จะใช้จ่ายเท่ากับจำนวนที่ได้สิทธิ์ ในการลดหย่อนภาษีของตัวเอง” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo