Economics

รฟม. มั่นใจ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ไร้ค่าโง่ ล่าสุดยังเดินหน้าประมูลตามขั้นตอน

“รฟม.” เปิดแถลงข่าวรอบ 2 มั่นใจ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ไร้ค่าโง่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีความเสียหาย พร้อมขึ้นศาลฯ เจอ BTS วันที่ 14 ต.ค. นี้ ล่าสุดการประมูลยังเดินหน้าตามขั้นตอน ยื่นซอง 9 พ.ย. นี้

จากกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เรียกร้องให้ตรวจสอบ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีที่ รฟม. ได้มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) โครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท รวมถึงกล่าวว่า ถ้าเกิดการฟ้องร้องคดี แล้ว รฟม. แพ้ รัฐบาลอาจจะต้องรับภาระค่าโง่ที่เกิดขึ้นนั้น

รถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.

วันนี้ (6 ต.ค. 63) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวงชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงกรณีการปรับ RFP โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นครั้งที่ 2 โดยกล่าวยืนยันว่า จะไม่มีค่าโง่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เนื่องจากท้ายคำฟ้องของกลุ่ม BTS ที่ขอให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนมติคณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2562 (PPP) และขอให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ได้มีการเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใด อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับกลุ่ม BTS เพราะ รฟม. ยังไม่มีเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ดังนั้น BTS จึงยังไม่ใช่ผู้เสียหาย

“เชื่อว่าคดีนี้จะไม่ยืดเยื้อ และมั่นใจว่า รฟม. จะชนะคดีแน่นอน เพราะผู้ฟ้องหรือ BTS ไม่ใช่ผู้เสียหาย และยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นที่ศาลฯ จะรับพิจารณาก็คือเรื่องของความเสียหาย”นายภคพงศ์กล่าว

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นี้ ศาลปกครองกลางจะนัดไต่สวนคำร้องของกลุ่ม BTS ที่ขอให้ศาลฯ มีคำสั่งคุ้มครองการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นการชั่วคราว โดย รฟม. ได้เตรียมที่ยื่นคำร้องคัดค้านในทุกประเด็น พร้อมขอสงวนสิทธิ์ในการปรับ RFP ซึ่งเชื่อว่าจะชนะคดีได้

ด้านการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ปัจจุบันยังเดินหน้าตามปกติ เนื่องจากศาลฯ ยังไม่มีคำตัดสินหรือคำสั่งคุ้มครองการประมูล โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคและราคา ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงเปิดซองคุณสมบัติ

หากรายใดผ่านคุณสมบัติ จะเปิดซองเทคนิคและซองราคาพร้อมกัน ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือนและคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ช่วงต้นปี 2564

DSC05115

นอกจากนี้ รฟม. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา ในสัดส่วน 30% ต่อ 70% ดังนี้

1.การปรับปรุงเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของ RFP เป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐอื่นได้เคยดำเนินการในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

ทั้งนี้ การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับจากการได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านเทคนิคในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ส่งผลให้ประชาชนได้รับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงที่สุด และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะของ รฟม.

2.การดำเนินการต่างๆ ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในทุกขั้นตอน ได้มีการพิจารณาและคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกอบการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว

3. รฟม. ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อสื่อมวลชนแล้วเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ทั้งนี้ รฟม. จะได้พิจารณาดำเนินการชี้แจงเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างการรับรู้ต่อประชาชนต่อไป โดยจะคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินการ ทางศาลในคดีดังกล่าวควบคู่กันด้วย เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดของการดำเนินกิจการของรัฐ

รถไฟฟ้า

สำหรับโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร ดังนี้

  • ด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี
  • ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี เป็นสถานีใต้ดินตลอดสาย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo