Economics

คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน ชี้ 10 ปีพุ่ง 1.28 แสนบาท/ราย

คนไทยเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน ชี้ 10 ปีหนี้พุ่งแตะ 1.28 แสนบาท/ราย จากเดิมที่ 7 หมื่นบาท/ราย ขณะที่หนี้เสียพุ่งเฉลี่ยแตะ 6.5 หมื่นบาทต่อราย จากเดิม 3.5 หมื่นบาท

นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 63 หรือ BOT Symposium 2020 ช่วงเสวนา “เหลียวหลัง…แลหน้า อนาคตหนี้ครัวเรือนไทย” โดยระบุว่า จากข้อมูลสินเชื่อที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ พบว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในหลายปีที่ผ่านมา และมีความรุนแรงขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 80.1% ในไตรมาสแรกปี 2563 เพิ่มจาก 50.4% เมื่อปี 2552 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความท้าทายมากขึ้น และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า

หนี้28963

ทั้งนี้ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้น และมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อราย เป็น 1.28 แสนบาท โดยหนี้เสียดังกล่าวมีค่ากลางมูลหนี้ที่ 6.5 หมื่นบาทต่อราย จากเดิมอยู่ที่ 3.5 หมื่นบาท และพบว่าคนไทยยังเป็นหนี้เร็ว คือ เป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย 60% ของกลุ่มคนอายุ 29 – 30 ปีจะเป็นหนี้ โดยกลุ่มคนอายุน้อยจะมีหนี้เสียถึง 1 ใน 4 และคนไทยยังเป็นหนี้นาน แม้หลังเกษียณแล้ว ยังมีค่ากลางมูลหนี้ประมาณ 7 – 8 หมื่นบาทต่อราย

สำหรับปัจจัยที่เกื้อหนุนให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น คือ “นโยบายรถคันแรก” ทำให้ทั้งที่ไม่พร้อมจะเป็นหนี้ และกลายเป็นหนี้เสีย ขณะที่คนในชนบท พบว่า นโยบายการให้ความช่วยเหลือภาครัฐ เช่น นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559 มีหนี้สะสมมากขึ้น และกลายเป็นหนี้เสียมากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการ ฉะนั้นโครงการพักหนี้เกษตรกร จึงอาจไม่ใช่แแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ผ่านมา มีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและมากขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ ตอกย้ำถึงความเปราะบางดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo