Economics

‘บีทีเอส-แอร์พอร์ตลิงก์ ‘ติดประตูกั้นชานชาลาไปถึงไหน?

เหตุการณ์ผู้โดยสารเป็นลม ล้มกระแทกขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสที่กำลังจะจอด ช่วงเช้าวันนี้ (17 ก.ย.) แม้โชคดี ที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บร้ายแรง แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำให้สังคมเกิดคำถามเดิมๆ วนเวียนขึ้นมาว่า ผู้โดยสารจะปลอดภัยกว่านี้ไหม ถ้าสถานีรถไฟฟ้าทุกแห่งติดตั้ง ‘ประตูกั้นชานชาลา

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็มีข่าวผู้โดยสารพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้าอยู่หลายครั้ง และทำให้เกิดกระแสเรียกร้องในโซเชียลมีเดียตามมาว่า เมื่อไหร่รถไฟฟ้าจะติดตั้งประตูกั้นชานชาลาให้ครบทุกสถานี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารต้องเสี่ยงชีวิต จากการพลัดตกไปในรางอีก

โดยรถไฟฟ้าที่ยังติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไม่ครบ คือ ‘บีทีเอส’ ที่ดูแลสถานีรถไฟฟ้าทั้งหมด 35 สถานี และเร็วๆ นี้กำลังจะเพิ่มเป็น 43 สถานี รวมทั้ง ‘แอร์พอร์ตเรลลิงก์’ ที่มีทั้งหมด 8 สถานี

รถไฟฟ้า บีทีเอส

ไม่รับปากติดตั้งทั้งหมดขึ้นกับความจำเป็น

อาณัติ อาภาภิรม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า การติดตั้งประตูกั้นชานชาลาบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้องแบ่งเป็นหลายกรรม หลายวาระ เพราะบีทีเอสมีทั้งเส้นทางเก่า ที่ได้รับสัมปทาน และเส้นทางใหม่ที่รับจ้างเดินรถ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

1. เส้นทางที่บีทีเอสเป็นเจ้าของสัมปทาน ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ได้แก่ ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ปัจจุบันติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไปแล้ว 9 สถานี ได้แก่ สถานีสยาม (2 ชั้น), พญาไท, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ชิดลม, อโศก, พร้อมพงศ์, อ่อนนุช, ศาลาแดง และช่องนนทรี

“สัญญาสัมปทานไม่ได้กำหนดให้บีทีเอสติดตั้งประตูกั้นชานชาลา แต่บีทีเอสตัดสินใจติดตั้งเองเพื่อเพิ่มความปลอดภัย เพราะทั้ง 9 แห่งเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก”

2.เส้นทางที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจ้างบีทีเอสเดินรถ ได้แก่ อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า ซึ่งก็ไม่มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา เพราะสัญญาว่าจ้างไม่ได้กำหนดไว้

3.เส้นทางที่ กทม. จะว่าจ้างบีทีเอสเดินรถ แต่เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ ช่วงสำโรง-แบริ่ง ซึ่งเตรียมเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ โดยช่วงสำโรง-แบริ่ง จะติดตั้งประตูกั้นชานชาลาทั้งหมด เพราะ รฟม. ได้ออกแบบและระบุไว้ในสัญญาตั้งแต่ต้น

สำหรับการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มเติมในสถานีต่างๆ ทางบีทีเอส และ กทม. จะต้องหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ ‘อาณัติ’ ก็ไม่ได้รับปากว่า จะติดตั้งบนสถานีทั้งหมด

“เรากำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร แต่เบื้องต้นจะติดตั้งตามความพร้อมและความจำเป็น ก็พยายามเต็มที่ตามเงื่อนไขที่เราเจอ แต่ตอนนี้ยังบอกรายละเอียดไม่ได้”

รถไฟฟ้า บีทีเอส

‘แอร์พอร์ต ลิงก์’ เริ่มติดราวกั้นเสร็จ มี.ค. 62

ด้าน แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก็เป็นรถไฟฟ้าอีกระบบหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย เพราะเคยเกิดเหตุผู้โดยสารตั้งครรภ์พลัดตกรางและเสียชีวิตที่สถานีบ้านทับช้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นข่าวคึกโครมบนหน้าสื่อ และทำให้กระทรวงคมนาคมต้องออกแอ็คชั่น สั่งติดประตูกั้นชานชาลาโดยด่วนที่สุด

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่า 1 ปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง?

ปิยะ วิโรจน์โภคา รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวว่า แอร์พอร์ตลิงก์ได้เปลี่ยนโครงการติดตั้งประตูกั้นอัตโนมัติ เป็นการติดตั้งราวสแตนเลส เพราะการติดตั้งประตูกั้นอัตโนมัติใช้วงเงินสูงถึง 200 ล้านบาท แต่จะมีอายุการใช้งานเพียง 2-3 ปีเท่านั้น เนื่องจากแอร์พอร์ตลิงก์จะต้องใช้เส้นทางเดียวกับรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ที่มีลำตัวกว้างกว่า ส่งผลให้ต้องรื้อประตูกั้นชานชาลาออกในอนาคต

อย่างไรก็ตามการติดตั้งราวสแตนเลสเริ่มมีความคืบหน้าบ้างแล้ว โดยผู้รับเหมากำลังเตรียมตัว จะเข้าพื้นที่ก่อสร้างในเร็วๆ ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์จะเร่งรัดการติดตั้งให้แล้วเสร็จครบ 7 สถานี (ไม่รวมสถานีสุวรรณภูมิ ที่ติดตั้งประตูกั้นแล้ว) ภายใน 6 เดือน เร็วกว่าสัญญาที่กำหนดไว้ 8 เดือน แต่อุปสรรคสำคัญคือผู้รับเหมาจะเข้าพื้นที่ได้แค่ช่วงเวลา 1.00-4.00 น. ที่รถหยุดให้บริการเท่านั้น

‘แอร์พอร์ต ลิงก

การติดตั้งจะเริ่มจากสถานีพญาไทก่อน เพราะเป็นสถานีต้นทางที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดและชานชาลาค่อนข้างแคบ คาดว่าการติดตั้งที่สถานีพญาไทจะแล้วเสร็จช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจึงทยอยติดตั้งบนสถานีอื่นๆ ที่มีความหนาแน่นรองลงไป จนครบทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2562

แต่ ‘ปิยะ’ ก็ยอมรับว่า ราวสแตนเลสไม่ได้เพอร์เฟค 100% เพราะเป็นเพียงราวกั้นธรรมดา ไม่ได้เป็นระบบเปิดปิดประตูแบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงต้องมีช่องว่างระหว่างราวกั้น เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าออกจากประตูรถไฟฟ้าได้

แต่แอร์พอร์ตลิงก์ก็จะเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อช่วยดูแลพื้นที่ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน (Peak) สถานีพญาไทก็จะเพิ่ม รปภ. เป็นชานชาลาละ 4 คน จากปกติมีชานชาลาละ 2 คน นอกจากนี้เข้มงวดเรื่องการจำกัดจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลา เพื่อไม่ให้มีความหนาแน่นมากเกินไป

นอกจากนี้แอร์พอร์ตลิงก์กำลังผุดโครงการใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างขบวนรถและชานชาลา (Gap) ที่กว้างมากเกินไป ซึ่งทำให้สิ่งของหรือเท้าผู้โดยสารลงไปติดได้ โดยแอร์พอร์ตลิงก์จะเพิ่มพื้นยางออกจากตัวชานชาลา เพื่อลดช่องว่างดังกล่าวลง โดยคาดว่าการปรับปรุงจะแล้วเสร็จในประมาณเดือนเมษายน 2562 ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบายและมีความปลอดภัยมากขึ้น

ภาพจากเฟซบุ๊ก รถไฟฟ้าบีทีเอส และ Airport Rail Link 

Avatar photo